กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงชื่อเสียงของบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย การเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศจีน ตราสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับ ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลที่ดีกว่าอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ การให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อย ตลอดจนราคาน้ำตาลในตลาดโลก และความเสี่ยงเกี่ยวกับกฎระเบียบของธุรกิจเอทานอลในประเทศ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนไว้ได้ ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะรักษาความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงินและกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอได้ต่อไปแม้ว่าจะมีการขยายงานในอนาคต
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทน้ำตาลมิตรผลเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลทรายไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นในบริษัททั้ง 100% ผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด โรงงานน้ำตาลในเครือมิตรผลมี 5 แห่ง รวมกำลังการหีบอ้อย 114,700 ตันอ้อยต่อวัน โดยโรงงานน้ำตาล 4 แห่งเป็นของบริษัทและอีก 1 แห่งเป็นของตระกูลว่องกุศลกิจ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มมิตรผลยังคงเป็นผู้นำในตลาดอ้อยและน้ำตาลทรายไทยด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ 17%-19% และในปีการผลิต 2549/2550 กลุ่มมิตรผลสามารถจัดหาอ้อยคิดเป็นสัดส่วน 18.9% ของปริมาณอ้อยทั้งประเทศ รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง 18.1% กลุ่มไทยเอกลักษณ์ 14.0% และกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น 8.3% ปริมาณน้ำตาลทรายที่บริษัทผลิตได้ในปีการผลิต 2549/2550 มีจำนวน 1,296,246 ตัน เพิ่มขึ้น 45% จากปีที่ผ่านมา และสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยที่ 39% โดยประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของบริษัทที่ระดับ 107.55 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยนั้นถือว่าดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 105.33 กก.
นอกจากนี้ บริษัทขยายธุรกิจน้ำตาลไปสู่ประเทศจีนโดยเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 5 แห่งในประเทศจีนมาตั้งแต่ปี 2536 และมีกำลังการหีบอ้อยรวม 55,000 ตันอ้อยต่อวัน บริษัทถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศจีน ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดที่ 10% ในปีการผลิต 2548/2549 ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของโรงงานของบริษัทที่ระดับ 124.1 กก. ต่อตันอ้อยในปีการผลิต 2549/2550 นั้นอยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโรงงานของบริษัทในประเทศไทย รายได้จากธุรกิจน้ำตาลในจีนคิดเป็นสัดส่วน 51.3% ของยอดขายรวมในปี 2549 และคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 66% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมของบริษัท
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ในปี 2549 บริษัทน้ำตาลมิตรผลขยายธุรกิจน้ำตาลไปสู่ประเทศลาว โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 2,575 ล้านบาทในการปลูกอ้อยและสร้างโรงงานน้ำตาลในประเทศลาว ซึ่งคาดว่าในปี 2552 จะสามารถจำหน่ายน้ำตาลทรายดิบที่ผลิตได้ไปยังกลุ่มประเทศยุโรปในราคาที่สูงภายใต้โครงการการให้สิทธิปลอดภาษีและโควต้าแก่สินค้านำเข้าทุกชนิดยกเว้นอาวุธแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Everything But Arms -- EBA) บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีน ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจแผ่นไม้อัด และธุรกิจผลิตกระดาษ โดยในปี 2549 รายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจแผ่นไม้อัดคิดเป็น 10.2% ของยอดขายรวม บริษัทเริ่มผลิตเอทานอลจำหน่ายในปี 2550 โดยมีกำลังการผลิตที่ 200,000 ลิตรต่อวัน แม้บริษัทจะประสบกับภาวะชะลอตัวของอุปสงค์เอทานอลเมื่อรัฐบาลตัดสินใจให้คงการผลิตและจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 95 ต่อไป แต่ธุรกิจผลิตเอทานอลก็ยังคงสร้างผลกำไรให้แก่บริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้เตรียมเปิดโรงงานผลิตเอทานอลแห่งที่ 2 ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ในปีการผลิต 2550/2551 ด้วยกำลังการผลิตอีก 200,000 ลิตรต่อวัน
ผลการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทอยู่ในระดับน่าพอใจ โดยในปี 2549 มียอดขายรวม 34,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38% จากปี 2548 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจน้ำตาลในจีน อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาโดย
ตลอดจากระดับ 82.09% ในปี 2545 เป็น 54.18% ในปี 2549 ณ เดือนเมษายน 2550 เงินกู้รวมของบริษัทอยู่สูงสุดที่ระดับ 29,618 ล้านบาท จากผลของเงินกู้ระยะสั้นที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูการผลิต ทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 63.60% อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจาก 19.85% ในปี 2548 เป็น 25.23% ในปี 2549 แต่ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 21.65% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550
ผลผลิตอ้อยในแต่ละฤดูกาลมีปริมาณค่อนข้างผันผวนขึ้นกับปริมาณน้ำฝน พื้นที่เพาะปลูก และราคาอ้อยเมื่อเทียบกับพืชผลเกษตรอื่นๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ผลผลิตอ้อยของไทยได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับ 74 ล้านตันอ้อยเมื่อปีการผลิต 2545/2546 มาสู่ระดับ 47 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2548/2549 แล้วนั้น ผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2549/2550 ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 63.8 ล้านตันอ้อยเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงราคาอ้อยขั้นต้นที่อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2550/2551 จะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาเนื่องจากปริมาณน้ำที่มีเพียงพอ ส่วนในประเทศจีนนั้น เนื่องจากรัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมการปลูกอ้อย ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นจาก 75 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2544/2545 เป็น 99.78 ล้านตันอ้อยในปีการผลิต 2549/2550 แม้ว่าน้ำตาลทรายในประเทศจะมีราคาค่อนข้างคงที่ ทว่าราคาน้ำตาลส่งออกกลับผันผวนตามอุปสงค์และอุปทานของน้ำตาลและสินค้าที่เกี่ยวข้องในตลาดโลก โดยราคาน้ำตาลทรายดิบของโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 10.67 เซนต์/ปอนด์ในปี 2547/2548 เป็น 18.93 เซนต์/ปอนด์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 แต่ค่อยๆ ลดลงสู่ระดับ 11.61 เซนต์/ปอนด์ในเดือนกันยายน 2550 ทั้งนี้ ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ในสัดส่วน 70:30 ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลช่วยให้บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีอัตรากำไรค่อนข้างสม่ำเสมอและช่วยลดความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาทลงได้ ทริสเรทติ้งกล่าว