กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ เสด็จตรวจงานขี้ผึ้งต้นแบบ "พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต" และตรวจงานขี้ผึ้งต้นแบบพระบูชา ในโครงการจัดสร้างวัตถุมงคลพระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต ณ โรงหล่อเอเชีย ไฟน์ อาร์ท อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันอังคาร ที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๑
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงขอพระราชทานพระราชานุญาต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จัดทำโครงการจัดสร้าง "พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต" พระประธานมีขนาดหน้าตัก ๑.๘ เมตร เพื่อนำไปประดิษฐานภายในวิหารวัดธาราทิพย์ชัยประดิษฐ์ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โครงการจัดสร้างวัตถุมงคล "พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต" พระบูชา
ในการนี้สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงประทานพระเมตตารับเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการจัดสร้างพระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต พระประธานในวิหารวัดธาราทิพย์ ชัยประดิษฐ์ พร้อมทั้งจัดสร้างวัตถุมงคล ดังกล่าว
ปัจจุบันการดำเนินการจัดสร้างพระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต พระประธาน และวัตถุมงคล พระพุทธรูปบูชาขนาดหน้าตัก ๔๘ เซนติเมตร ๕ นิ้ว และ๙ นิ้ว (องค์จำลอง) ได้จัดทำต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนตรวจขี้ผึ้งต้นแบบ เพื่อจะเตรียมขั้นตอนในพิธีเททองในลำดับถัดไป
ทั้งนี้ผู้มีจิตศรัทธาร่วมสืบสานพระพุทธศาสนา บูชา "พระพุทธปฎิมาสิริภานิรมิต" องค์จำลอง ไว้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ซึ่งวัตถุมงคลที่จะจัดสร้างขึ้นนั้นมี ขนาดหน้าตัก ๔๘ เซนติเมตร ๕ นิ้ว และ ๙ นิ้ว พระเครื่องลอยองค์ขนาดเล็ก พระพิมพ์ผง และเหรียญพระเนื้อโลหะต่างๆ
รายได้จากการบูชาวัตถุมงคล "พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต" จะนำไปสนับสนุนโครงการต่างๆ ในพระดำริฯ ซึ่งดำเนินการโดยกองทุนพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์
สำหรับประวัติ พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อพระพุทธรูปว่า "พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต" ซึ่งหมายถึง พระพุทธปฏิมาที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ทรงสร้างขึ้น ออกแบบโดยนายเข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินแห่งชาติ ปี ๒๕๕๕ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม)
พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต หล่อด้วยโลหะบรอนซ์ มีพุทธลักษณะปางมารวิชัยประทับนั่งขัดสมาธิเพชร (วัชรอาสน์) เกศบัวตูม ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบพระเชียงแสน แบบสิงห์หนึ่ง ผสมผสานกับพุทธลักษณะศิลปะแบบคุปตะของอินเดีย ทวารวดี ศรีวิชัย และศิลปะแบบหริภุญชัย ลำพูน ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย อัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. บนกลีบบัว ในตำแหน่งผ้าทิพย์เปรียบดังดอกบัวกำลังผุด สื่อความหมายถึงการเจริญเติบโต เบิกบาน สัญลักษณ์รูปงู ที่ปรากฏบนฐานสื่อถึงเรื่องราวตอนมารผจญในพุทธประวัติ กึ่งกลางฐานมีประติมากรรมรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมอยู่ตรงกลาง อยู่ตำแหน่งแนวตรงกันกับองค์ประธาน อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. และนักษัตรปีเถาะ ซึ่งเป็นปีพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร แสดงถึงความหมายของกาลเวลาและความเชื่อ ทั้งนี้ปฏิมากรต้องการออกแบบให้พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต เป็นพระที่บ่งบอกถึงยุคสมัยในการสร้าง จึงมีความแตกต่างจากประเพณีนิยมที่เคยทำมา
การออกแบบฐานพระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต มิเคยมีปรากฏการออกแบบในลักษณะรูปแบบนี้มาก่อน โดยแต่ละส่วนมีความหมายสัมพันธ์กันก่อเป็นเอกลักษณ์เฉพาะองค์ ตัวองค์พระมีรายละเอียดเส้นริ้วจีวร สังฆาฏิ พลิ้วไหว สื่อความหมายถึงความเมตตา นิ่มนวล อิ่มเอิบของพระพุทธองค์ ด้านหลังมีลายพระหัตถ์ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ จารึกอักษรเป็นนามของพระพุทธรูปว่า "พระพุทธปฏิมาสิริภานิรมิต" โดยมีความหมายว่า พระพุทธปฏิมาที่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ทรงสร้างขึ้น