กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--
วันที่ ๒๑ – ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑ ณ บริเวณพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ กรุงทพมหานคร
โดยมีการแสดงโชว์ในรูปแบบริ้วขบวนขึ้นในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๘.๑๕ น. - ๑๙.๐๐ น.
ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม จึงจัดงานฉลองวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ๒๓๖ ปี ภายใต้ชื่องานว่า "ใต้ร่มพระบารมี ๒๓๖ ปี กรุงรัตนโกสินทร์" เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี สร้างความเข้าใจถึงประวัติความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยการนำมรดกภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า มานำเสนอ สู่ประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ กระทรวงวัฒนธรรมได้บูรณาการความร่วมมือของทุกหน่วยงาน จัดงาน "ใต้ร่มพระบารมี ๒๓๖ ปี กรุงรัตนโกสินทร์" ระหว่างวันที่ ๒๑ - ๒๕ เมษายน ๒๕๖๑ ณ บริเวณพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ และจัดพิธีเปิดงานขึ้นในวันเสาร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๑ ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ด้วยมหกรรมริ้วขบวนเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๓๖ ปี "ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์ ๑๐ รัชกาล"
โดยในพิธีเปิดงาน ได้รับเกียรติจาก นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยศิลปินนักแสดงร่วมโชว์ในริ้วขบวน นำโดย เขมนิจ จามิกรณ์ (แพนเค้ก), พงศกร เมตตาริกานนท์ (เต้ย), กัญญ์ณรัณ วงศ์ขจรไกล (มะปราง) และ กรกันต์ สุทธิโกเศศ (อาร์ม)
ริ้วขบวนจะดำเนินไปตลอดเส้นทางถนนราชดำเนิน ผ่านศาลฎีกา เข้าซอยหน้าพระธาตุ มุ่งหน้าโรงละครแห่งชาติ ขบวนความยิ่งใหญ่สวยงาม ตระการตา ถ่ายทอดเรื่องราว ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร คุณูปการพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรีและพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่จารึกไว้ บนแผ่นดิน ให้ชาวไทยร่วมเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนตระหนักถึงความสามัคคี ความเป็นปึกแผ่นของคนไทยทุกคนจวบจนปัจจุบัน โดยริ้วขบวนจะประกอบด้วยขบวนต่างๆ ดังต่อไปนี้
๑. ฉลองมหามงคลสมโภชน์ ๒๓๖ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ : ขบวนตราสัญลักษณ์ราชวงศ์จักรี
๒. รัชกาลที่ ๑ : สร้างบ้าน แปงเมือง : จำลองกระบวนพยุหยาตราสถลมารค กองทัพ ม้าศึก เหล่าทหาร
๓. รัชกาลที่ ๒ : ฟูเฟื่องวรรณกรรม : ขบวนการแสดงโขน ตอน พระรามข้ามสมุทร
๔. รัชกาลที่ ๓ : เลิศล้ำเศรษฐกิจ : การแสดงงิ้วจีน และกายกรรม แสดงถึงการเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ของชาวจีนในรัชสมัยนั้น
๕. รัชกาลที่ ๔ : แนวคิดอารยะ : การแสดงละครสั้น เรื่อง สนธิสัญญาเบาริ่ง
๖. รัชกาลที่ ๕ : วัฒนะสู่สากล : การแสดงประกอบเพลงโยสลัม
๗. รัชกาลที่ ๖ : มากล้นการศึกษา : ขบวนปี่สก็อตวชิราวุธ และการแสดงสวนสนามของเหล่าลูกเสือ
๘. รัชกาลที่ ๗ : ประชาธิปไตย : ระนาดโหมโรง ร้อง เล่น เต้นรำ ฟลอร์ศาลาเฉลิมกรุง
๙. รัชกาลที่ ๘ : นำไทยสามัคคี : การแสดงเชิดสิงโตและมังกรจีน
๑๐. รัชกาลที่ ๙ : บารมีพระมากล้น : การจำลองเรือสุพรรณหงส์ และการแสดงนารายณ์ทรงสุบรรณ
๑๑. รัชกาลที่ ๑๐ : ประชาชนเปี่ยมสุข : ขบวนอาสาน้ำใจ รวมพลังไทย ให้ร่มเย็น
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมภายใต้นโยบาย 5 F ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์วัฒนธรรมและบริการ ที่มีมูลค่าสูง โดยเริ่มจากสินค้าและการบริการทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย FASHION, FESTIVAL, FOOD, FIGHTING และ FILM ซึ่งถูกออกแบบให้กิจกรรมภายในงาน ครอบคลุมทั้ง 5 F ดังกล่าว
๑. กิจกรรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรุงรัตนโกสินทร์ และพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ให้แก่คณะครูและนักเรียนในสังกัดสถานศึกษาที่อยู่บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดย
(๑) จัดอบรม/ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ และความรู้เกี่ยวกับสถานที่สำคัญ ในเกาะรัตนโกสินทร์ ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
(๒) จัดทัศนศึกษาโดยนำชมสถานที่สำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์
(๓) จัดพิมพ์หนังสือ "กรุงรัตนโกสินทร์ รัตนธานีของราชอาณาจักรไทย" เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย คือผู้เข้าร่วมกิจกรรมและประชาชนทั่วไป
๒. กิจกรรมทางศาสนา ได้แก่
(๑) พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน ๒๓๗ รูป
(๒) กิจกรรมไหว้พระ เสริมสิริมงคล ณ วัดและศาสนสถานบริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์
(๓) สักการะพระแก้ว และชมความงดงามของโบสถ์วังหน้า
(๔) กิจกรรมรำลึกบูรพกษัตริยาธิราชเจ้าแห่งราชวงศ์จักรี
๓. กิจกรรม "เสน่ห์ไทยเมื่อวันวาน" ประกอบด้วย
(๑) นิทรรศการ "เทิดไท้บูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์"
(๒) สาธิตการทำขนมและอาหารชาววัง
(๓) สาธิตและจำหน่ายสินค้าอาหารแบบดั้งเดิม
(๔) การละเล่นเด็กไทย
(๕) บริการให้เช่าเครื่องแต่งกายย้อนยุค
(๖) การแสดงแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย จาก ๗๗ จังหวัด "งามวิจิตรภูษา ภัตราภรณ์ อัตลักษณ์ไทย อัตลักษณ์ถิ่น" และการแสดงแบบเครื่องแต่งกายชุดไทย ๙ รัชกาล "งามอาภรณ์ งามศิลป์ งามแผ่นดิน แห่งกรุงรัตนโกสินทร์"
(๗) การแสดงทางศิลปวัฒนธรรมไทย
(๘) การแสดงมหกรรมพื้นบ้านนานาชาติ
๔. กิจกรรมการเสวนาวิชาการ หัวข้อ รัตนโกสินทร์ราชธานีศรีสมโภชและย่านเก่าเล่าเรื่องเพลงพื้นบ้าน
กรุงรัตนโกสินทร์ ณ โรงละครวังหน้า
๕. กิจกรรม "เสน่ห์บางกอก" ณ สวนสันติชัยปราการ ประกอบด้วย
(๑) นิทรรศการวิถีวัฒนธรรมชุมชนบางลำพู
(๒) เยี่ยมชมวิถีชีวิตในชุมชนโดยมัคคุเทศก์น้อยในพื้นที่
(๓) การสาธิตและจำหน่าย "ของดี วิถีชุมชน" จาก ๕๐ เขต ทั่วกรุงเทพมหานคร
๖. กิจกรรมตลาดประชารัฐจากทั่วทุกภูมิภาค "ไทยนิยม ไทยยั่งยืน" ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร ชมการสาธิตและจำหน่าย "ของดีบ้านฉัน" และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นของแต่ละภาค
๗. กิจกรรม "เยี่ยมยลชมวัง หอศิลป์ และพิพิธภัณฑ์" โดยการจัดรถให้สำหรับผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์ วัง และหอศิลป์ บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกลุ่มพิพิธภัณฑ์ วัง และหอศิลป์ ให้ร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองกรุงฯ ในช่วงระยะเวลาที่จัดงานด้วย
๘. กิจกรรม "สุดยอดภาพยนตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ ๙" โดยเปิดให้ชม ณ โรงภาพยนตร์สกาล่า
๙. กิจกรรมการประกวดภาพถ่ายวัฒนธรรมไทยในรัชกาลที่ ๑๐