กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--
10.30 น. 22 เม.ย. 2561 ที่ มหาวิทยาลัยรังสิต
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นต่อผลกระทบของอาลีบาบาและยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซอื่นๆ อย่าง JD.com, Amazon, Shoppee, 11Street, Lazada ต่อเศรษฐกิจว่า จะส่งผลให้เกิดการเติบโตและขยายตัวเพิ่มขึ้นของธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบก้าวกระโดด การที่แพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลกขยายการลงทุนมาประเทศไทยก็หวังจะใช้ความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ไปสู่การขยายตลาดในภูมิอาเซียนจะทำให้ไทยพัฒนาเป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้าและบริการในภูมิภาคได้ผ่าน Digital Hub ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการกระจายตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการกระจายรายได้ยังเป็นเรื่องที่ต้องการศึกษาวิจัยต่อไป ในเบื้องต้นจะเห็นได้ว่า ด้านหนึ่งการลงทุนของยักษ์ใหญ่ทางด้านค้าปลีกออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซต่างชาติย่อมทำให้การเติบโตของธุรกิจนี้ขยายตัวมากขึ้นและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและช่องทางในการกระจายสินค้าให้กับผู้ผลิตของไทยสู่ตลาดโลก อีกด้านหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ของไทย และที่มีผลกระทบหนักคือธุรกิจค้าปลีกออฟไลน์ทั้งหลายโดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าขนาดกลางและร้านค้าปลีกรายย่อยและโชว์ห่วยของไทย หากธุรกิจไทยทั้งออฟไลน์และออนไลน์ไม่สามารถปรับตัวให้แข่งขันได้โอกาสและผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของการค้าสินค้าและบริการผ่านทางออนไลน์ย่อมตกแก่ยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่รัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมเข้ามาลงทุน ขณะที่สินค้าและบริการของไทยมีช่องทางในการกระจายไปยังตลาดจีนและตลาดโลกมากขึ้น สินค้าและบริการจากทั่วโลกโดยเฉพาะจากจีนจะทะลักเข้าไทยมากขึ้น หากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อยไม่สามารถปรับตัวแข่งขันได้จะได้รับผลกระทบ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการจ้างงานและดุลการค้าด้วย สินค้าราคาถูกจากจีนอาจมีผลทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมากขึ้นในระยะต่อไป ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์จากทางเลือกมากขึ้นหากโครงสร้างตลาดไม่มีการผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด
การประกาศลงทุนของอาลีบาบาด้วยเม็ดเงิน 11,000 ล้านบาทในพื้นที่ EEC ไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปตื่นเต้นจนเกินเหตุเพราะมันเป็นเงินเพียงแค่ 5% ของกำไร 200,000 ล้านบาทของอาลีบาบาเมื่อปีที่แล้ว เช่นเดียวกัน หากหวังว่า อาลีบาบาจะมาช่วยเกษตรกรรายย่อยของไทย ขายข้าว ขายทุเรียน ขายผลไม้หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยโดยเขาไม่ได้กำไรหรือไม่ได้ผลประโยชน์ที่จูงใจเพียงพอน่าจะเป็นการเล็งผลเลิศมากเกินไปในเชิงนโยบาย สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ ทำให้ผู้ผลิตของไทยโดยเฉพาะเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย มีอำนาจต่อรองและได้รับแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมมากขึ้นภายใต้โครงสร้าง
ตลาดที่ถูกครอบงำจากทุนยักษ์ใหญ่มากขึ้นตามลำดับ โครงสร้างตลาดที่ผูกขาดและโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ขณะนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเฉพาะเศรษฐกิจฐานบนไม่กระจายมายังเศรษฐกิจฐานรากหรือรากหญ้า ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดีหรือการทำมาหากินมีความฝืดเคือง
ต้องทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงพื้นที่ดิจิทัล (digital platform) เครื่องมือ (tools) และ การเข้าถึงเทคโนโลยี (affordance of technology) อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เทคโนโลยีเหล่านี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย องค์ประกอบเหล่านี้ได้สร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง ความเสี่ยง นวัตกรรม ความล้มเหลว และภาวะอนาคต นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลยังเข้ามามีบทบาทต่อทั้งการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมในระดับปัจเจกไปจนถึงสร้างเงื่อนไขและผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในระดับกว้าง เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำลายธุรกิจเก่าโครงสร้างการทำธุรกิจแบบเก่าและตัดธุรกิจคนกลางและสร้างธุรกิจใหม่ๆและโอกาสใหม่แต่จะเป็นกิจการที่ใช้แรงงานน้อยใช้เทคโนโลยีสูงจึงอาจเป็นการเติบโตและขยายตัวที่ไม่มีการจ้างงานมากนัก หากโครงสร้างไม่มีอำนาจผูกขาดแข็งตัวเกินไป สังคมไทยควรจะเดินหน้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น
ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวอีกว่า ธนาคารและกิจการธุรกิจทางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ก็ต้องปรับตัวด้วยเพราะจะได้ผลกระทบ เพราะการลงทุนของอาลีบาบาและยักษ์ใหญ่ค้าปลีกออนไลน์จะมาพร้อมกับระบบขนส่งและระบบการจ่ายเงินออนไลน์แบบครบวงจร เช่น Alipay, E-Wallet, E-Finance จะแย่งส่วนแบ่งตลาดของการบริการทางการเงินจากธนาคาร ขณะที่การท่องเที่ยวของชาวจีนอาจเพิ่มขึ้นจากระบบการจองผ่าน Digital Platform ของ อาลีบาบา กระทบต่อกิจการท่องเที่ยวที่ทำหน้าที่เป็นเอเยนต์หรือคนกลางของไทย
การทำลายล้างผ่านการสร้างสรรค์นี้ได้ทำให้สิ่งเก่าและวิถีแบบเก่าถูกทำลายลงผ่านการเกิดขึ้นของสิ่งใหม่และวิถีใหม่ที่เข้ามาแทนที่ 'ทุน' ในรูปของบริษัทต่างแข่งขันกันสะสมทุนและขึ้นมาเป็นผู้นำตลาด
เป้าหมายของทุนเหล่านี้คือการสร้างผลกระทบอย่างรุนแรง (disruption) ผ่านการคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่สามารถทำลายระบบตลาดแบบเก่าและทุนคู่แข่งลงอย่างสิ้นเชิง การสร้างระบบเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบหรือประคับประคองเพื่อให้เกิดการปรับตัวจึงมีความสำคัญในมิติการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและดูแลไม่ให้เกิดปัญหาทางสังคมหรือการเมืองจากการเปลี่ยนแปลงที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้
หากทุนขนาดใหญ่ประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรม นวัตกรรมนั้นจะถูกนำไปใช้สร้างกำไร ทำให้ทุนที่มีนวัตกรรมสามารถเข้ามาเป็นผู้ผูกขาดในตลาดได้ในระยะหนึ่งจนกว่าทุนอื่นจะลอกหรือเลียนแบบนวัตกรรมดังกล่าวได้ กระบวนการนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการละทิ้งวิธีการใช้แรงงาน การผลิต การกระจายสินค้าแบบเดิมๆ เท่านั้น แต่ยังสั่นคลอนเทคโนโลยี โครงสร้างทางสังคม และการปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมแบบเดิมด้วย จึงจำเป็นต้องมีมาตรการหรือนโยบายที่ส่งเสริมให้ SME สามารถพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาได้เองโดยไม่ต้องพึ่งทุนยักษใหญ่และกำกับปฏิสัมพันธ์ในสังคมให้เหมาะสมผ่านระบบการศึกษา นายทุนบริษัทยักษ์ใหญ่ยังกว้านซื้อธุรกิจใหม่รายย่อยที่ทำท่าว่าจะเติบโตขึ้นมาเป็นคู่แข่ง ทำให้อำนาจผูกขาดของทุนนิยมยุคดิจิทัลกระจุกอยู่ในมือคนกลุ่มเล็กๆ และมีความจำเป็นในการต้องมีกฎหมายป้องกันการผูกขาดและบังคับใช้อย่างเสมอภาค
นอกจากนี้ รัฐบาลควรไปศึกษาเรื่องการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมออนไลน์อย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บ เนื่องจากฐานรายได้ภาษีของรัฐบาลจะหายไปจำนวนมากหากพฤติกรรมของคนเปลี่ยนจากการทำธุรกรรมซื้อขายในร้านค้าแบบเดิมมาเป็นออนไลน์มากขึ้น นอกจากนี้ธุรกรรมออนไลน์ระหว่างประเทศบางส่วนจะสามารถหลบเลี่ยงการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีจากธุรกรรมที่ดำเนินการผ่านเทคโนโลยีออนไลน์ ซึ่งทำให้รัฐไทยสูญเสียรายได้ไปจำนวนมากเช่นเดียวกัน