กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับหน่วยงานรัฐภาคเอกชน และภาคประชาชน จัดงานมหกรรมวัฒนธรรม "ใต้ร่มพระบารมี 236 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" วันที่ 21 – 25 เม.ย. 2561 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และรอบเกาะรัตนโกสินทร์ โดยในส่วนสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จัดกิจกรรมมหกรรมการแสดงพื้นบ้านนานาชาติ วันที่ 21-25 เม.ย. 2561 จำนวน 5 เวที ได้แก่ ลานคนเมือง สวนสันติชัยปราการ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน โรงละครแห่งชาติ และสังคีตศาลา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยมีคณะนักแสดงจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมกิจกรรม
นายวีระ กล่าวอีกว่า สำหรับการแสดงแต่ประเทศ ได้แก่
1.กัมพูชา แสดงโดยคณะนักแสดง กรมศิลปะการแสดง กระทรวงวัฒนธรรมและวิจิตรศิลป์ นำเสนอการแสดงประจำชาติ ทั้งในรูปแบบราชสำนักและการแสดงท้องถิ่นกัมพูชา ได้แก่ แสดงชุด "RobamMonosanhchetana (Expression of Sentiment Dance)" ซึ่งเดิมเป็นการแสดงในราชสำนัก และการแสดงชุด "รำเก็บกระวาน (Cardamom Picking Dance)" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากทรัพยากรทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อยในชนบทของกัมพูชา และการแสดงชุด "พลอยสวย (Ploy Suoy Dance)" ผู้แสดงจะบรรเลงเครื่องเป่าที่เรียกว่า "พลอย (Ploy)" เพื่อระลึกถึงต้นกำเนิดแห่งกาลเวลาและความเชื่อเรื่องการกลับคืนสู่นิรันดร์
2.อินโดนีเซีย แสดงโดยคณะ "Animal pop" นำแสนอการแสดงชุด "In Front of Papua"เล่าเรื่องราวของเมืองจายาปุระ และเมืองวาเมน่าที่เป็นเมืองแห่งชนพื้นเมืองดั้งเดิมของจังหวัดปาปัวตั้งอยู่บนเกาะด้านทิศตะวันออกสุดของอินโดนีเซีย วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ธรรมชาติ ผู้คน และสัตว์ป่า ได้ถูกถ่ายทอดผ่านการแสดงร่วมสมัยชุดนี้อย่างลงตัว
3.เมียนมา แสดงโดยคณะนักแสดงจากกรมศิลปากร กระทรวงศาสนาและวัฒนธรรม เมียนมา นำเสนอชุดการแสดงพื้นบ้าน เช่น การแสดงระบำกลอง Moozarกลอง Oozi และกลอง Doobat รวมถึงการแสดงดนตรีพื้นบ้าน การแสดงตลก และการแสดงศิลปะป้องกันตัวในชุด Beautiful Bow Dance
4.ฟิลิปปินส์ แสดงโดยคณะ Hinugyaw Cultural Dance นำเสนอการแสดงพื้นบ้าน ชุด "PYESTA KOLON DATAL" เป็นการแสดงที่แสดงถึงความสงบสุขและมิตรภาพ โดยผสมผสานการแสดงพื้นบ้านของชาวมินดาเนาและการแสดงชุด "KAGTABO BLAAN" ที่บอกเล่าถึงคติความเชื่อและประเพณีของชาว Blaan รวมถึงการแสดงชุด "PAWAKAN" เป็นการแสดงศิลปะการต่อสู้ ของชาว Maguindanao ซึ่งมีท่วงท่าเลียนแบบมาจากการชนไก่
5.เวียดนาม แสดงโดยคณะ "Lac Hong" เป็นคณะอาจารย์และนักดนตรีอาชีพแห่งวิทยาลัยดนตรีเมืองโฮจิมินห์นำเสนอการแสดงดนตรีและการขับร้องที่ถ่ายทอดโดยบทเพลงดั้งเดิม รวมถึงการแสดงดนตรีและการขับร้องที่ได้นำเครื่องดนตรีพื้นบ้านอันมีเอกลักษณ์จากชนบนพื้นที่สูงตลอดจนถึงกลุ่มชนบริเวณปากแม่น้ำ ถ่ายทอดผ่านศิลปะหลากหลายแขนง เช่น เครื่องดนตรี การร้องเพลง บทสวดในพิธีกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ กิจกรรมครั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมและช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียน