กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมระบบการผลิตปุ๋ยสั่งตัด ของสหกรณ์การเกษตรเมืองสุพรรณบุรี ณ โรงสีข้าวสหกรณ์การเกษตรเมืองสุพรรณบุรี จำกัด ต.ดอนกำยาน อ.เมืองสุพรรณ จ.สุพรรณบุรี ว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการส่งเสริม ให้ความรู้และสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มผลิตและใช้ปุ๋ยสูตรที่มีธาตุอาหารพืชเหมาะสมตามค่าการวิเคราะห์ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินในแต่ละพื้นที่ หรือที่เรียกว่า "ปุ๋ยสั่งตัด" ช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยถูกชนิดและถูกปริมาณ ประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยจึงสูงขึ้น สามารถลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรได้ โดยปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรที่สามารถผลิตและดำเนินการจัดทำปุ๋ยสั่งตัดเพื่อบริการให้กับสมาชิกและเกษตรกรทั่วไปได้ ประมาณ 100 แห่ง มีกำลังการผลิตอยู่ประมาณ 20,000 ตันต่อปี แต่ยังมีหลายสถาบันเกษตรกรที่ยังมีความต้องการผลิต และจำหน่ายปุ๋ยสั่งตัดให้กับสมาชิกอีกมาก ซึ่งมีข้อจำกัดด้านเงินทุนในการลงทุนจัดซื้อแม่ปุ๋ย เครื่องจักร และวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ จึงยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตปุ๋ยสั่งตัดให้มากขึ้นได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เกิดแนวคิดที่จะสนับสนุนผลักดันกลไกปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกรขึ้นเพื่อตอบโจทย์ให้กับสถาบันเกษตรกรนั้นสามารถผลิตปุ๋ยสั่งตัดจำหน่ายให้กับสมาชิกในราคาถูกได้
ดังนั้น ในเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ ได้หารือร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการทำแคมเปญสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 4 เพื่อสนับสนุนการลดต้นทุนผลิตให้แก่เกษตรกร โดยสนับสนุนการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยสั่งตัดให้กับสถาบันเกษตรกรต่าง ๆ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตและจำหน่ายปุ๋ยสั่งตัดให้แก่สมาชิกของสถาบันเกษตรกรและเกษตรกรทั่วไปได้
รวมไปถึงแคมเปญสินเชื่อบุคคลเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตดอกเบี้ยต่ำในอัตราร้อยละ 2 สำหรับเกษตรกรลูกหนี้ ธ.ก.ส. หรือเกษตรกรทั่วไป หรือเกษตรกรผู้ที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐที่ ธ.ก.ส. รับขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. เพื่อนำมาใช้จ่ายในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ น้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องจักรกลหรือเครื่องมือการเกษตรขนาดเล็ก และปัจจัยอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องพ่นยา เครื่องหว่านเมล็ดพันธุ์ เครื่องหว่านปุ๋ย เครื่องตัดหญ้า ผ่านร้านค้าปัจจัยการผลิตที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตของสหกรณ์การเกษตร ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ขึ้นทะเบียนไว้กับโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรของ ธ.ก.ส. และร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ หรือ ร้าน Q-Shop ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งหากดำเนินการได้จะสามารถตอบสนองต่อการลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรได้มีความสามารถในการประกอบการผลิตได้เป็นเป็นอย่างดี สร้างกำไรจากอาชีพเกษตรกรรมได้ อันเป็นสร้างการความเข้มแข็งให้กับระบบสถาบันเกษตรกร และตัวเกษตรกรได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม จะรวบรวมข้อมูล รายละเอียดเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาก่อนเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป
สำหรับสหกรณ์การเกษตรเมืองสุพรรณบุรี จำกัด ได้มีการรวมตัวกันของ 8 สหกรณ์ ดำเนินการผลิตปุ๋ยสั่งตัดมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2560 ผลิตปุ๋ยสั่งตัดให้แก่สมาชิกไปแล้ว 6,951 กระสอบ คิดเป็นมูลค่า 3,910,640 บาท เปรียบเทียบกับราคาปุ๋ยในท้องตลาดจะสามารถลดต้นทุนการผลิตให้แก่สมาชิกประมาณ 357,425 บาทผลิตปุ๋ยผสมจำนวน 4 สูตร และได้ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรและได้การรับรองมาตรฐาน สามารถผลิตปุ๋ยสั่งตัดได้ 400 ตันต่อปี
"การสนับสนุนการผลิตหรือจัดหาปุ๋ยสั่งตัดผ่านสถาบันเกษตรกรนี้ เป็นการสนับสนุนกลไกการดำเนินงานในด้านการผลิตปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพและประหยัดให้กับสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มเกษตรกร โดยทำการผลิตปุ๋ยสั่งตัดได้ตรงตามความเหมาะสมกับชนิดพืชและดินในพื้นที่ของตนเอง พร้อมทั้งนำมาจำหน่ายให้กับสมาชิกรวมถึงเกษตกรทั่วไป นอกจากจะสนับสนุนเรื่องการลดต้นทุนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนการทำธุรกิจทางเลือกใหม่ๆ ให้กับสถาบันเกษตรกร โดยใช้กลไกสหกรณ์ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนการผลิตปุ๋ยสั่งตัดนี้จะสามารถทำให้เกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้กระสอบละ 100 – 300 บาท หรือ 1,000 – 2,000 บาทต่อตัน" รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว