กรุงเทพฯ--23 เม.ย.--มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๑ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์กรต้นแบบในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สิ่งแวดล้อม และศิลปวัฒนธรรม อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัฒนธรรมธรรมประเพณีอันทรงคุณค่า ที่แสดงให้เห็นถึงความสุนทรียะและความละเอียดประณีตในจิตใจของคนไทยซึ่งนับวันจะเลือนหายไป มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงจัดงาน "สระเกล้าดำหัว" ตามประเพณีล้านนาโบราณขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี ในเทศกาลสงกรานต์ประจำปี ๒๕๖๑ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลังในการเคารพนบนอบผู้สูงอายุ
โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ท่านผู้หญิงบุตรี วิระไวทยะ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณหญิงพวงร้อย ดิสกุล ณ อยุธยา กรรมการและรองเลขาธิการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายนคร พงษ์น้อย กรรมการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง) และนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยบุคคลสำคัญจากทุกภาคส่วนของ จ.เชียงราย เข้าร่วมงานกว่า ๔๐๐ คน ณ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง)
พิธีสระเกล้าดำหัวตามประเพณีล้านนาโบราณ ที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จัดขึ้น เป็นการประยุกต์นำแบบแผนดั้งเดิมมาปรับให้กระชับและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ โดยยังคงความหมายและคุณค่าไว้ครบถ้วน ทั้งพิธีสรงน้ำพระพุทธรูปไม้โบราณอายุกว่า ๑๐๐ ปี ๑๖ องค์ ผ่านรางพญานาคซึ่งหาชมได้ยากในปัจจุบัน พิธีสงฆ์เพื่อความเป็นสิริมงคล เหล่ากวีล้านนาร่ายกะโลงแสดงความความคารวะผู้อาวุโสที่ได้ทำคุณประโยชน์ให้สังคมเชียงราย จาก ๑๘ อำเภอ ๓๖ คน โดยมีขบวนสาวสงกรานต์เชิญเครื่องคำนับ น้ำขมิ้นส้มป่อย และเกียรติบัตรเชิดชูให้ประธานในพิธีมอบแด่ผู้อาวุโส ตามประเพณีดั้งเดิมเชื่อว่าน้ำขมิ้นส้มป่อยเป็นสิ่งมงคล สามารถขจัดปัดเป่าสิ่งไม่ดีต่างๆ ให้หมดไป โดยนายเลื่อน ธนะเพทย์ ตัวแทนผู้อาวุโส กล่าวให้พร
นายนคร พงษ์น้อย ผู้อำนวยการอุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จะจัดงานสระเกล้าดำหัวแบบล้านนาเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงามเช่นนี้เรื่อยไปทุกปี นอกจากนี้ยังปรารถนาให้อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงสถานที่อันร่มรื่น เป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาของ จ.เชียงราย ด้วยการจัดงานด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดนิทรรศการ การจัดค่ายศิลปะเยาวชน การอบรมสัมมนา การสาธิต และการจัดประกวดด้านศิลปวัฒนธรรมประเพณี เพื่อให้ผู้คนได้มาสัมผัสและช่วยกันอนุรักษ์ความงดงามของประเพณีล้านนาสืบต่อไป