ก.ล.ต. นำระบบขึ้นทะเบียนกองทุนแบบง่าย (shelf-registration) มาใช้ในการอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม

ข่าวทั่วไป Thursday October 4, 2007 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. นำระบบขึ้นทะเบียนกองทุนแบบง่าย (shelf-registration) มาใช้ในการอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม และสนับสนุนให้ บลจ. กำหนดนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน
ก.ล.ต. ร่วมกับสมาคมบริษัทจัดการลงทุนหารือวิธีลดเวลาและขั้นตอนการขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม เพื่อให้เกิดความคล่องตัว สอดรับกับปริมาณกองทุนรวมที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (“บลจ”) นำออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ลงทุนในกองทุนรวม รวมทั้งสนับสนุนให้ บลจ. กำหนดนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ในการประชุมรายไตรมาสระหว่าง ก.ล.ต. กับสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ที่ประชุมได้มีการหารือกันในหลายประเด็น โดยที่สำคัญได้แก่
1. การอนุมัติคำขอจัดตั้งกองทุนรวม แบบ shelf-registration
ก.ล.ต. มีนโยบายที่จะอนุญาตให้ บลจ. สามารถยื่นขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมประเภทกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น และกองทุนรวมที่มีอายุไม่เกิน 1 ปี ในลักษณะ shelf-registration ได้กล่าวคือ บลจ. สามารถยื่นโครงการต้นแบบต่อ ก.ล.ต. โดยอาจกำหนดทางเลือกในบางเรื่อง เช่น
การจัดตั้งกองทุนรวมตราสารหนี้แบบ series ซึ่งอาจมีการกำหนดอายุโครงการต่างกัน เป็นต้น
เมื่อ ก.ล.ต. พิจารณาเห็นชอบโครงการต้นแบบแล้ว บลจ. สามารถยื่นจัดตั้งกองทุนรวมซึ่งมีรูปแบบตามโครงการต้นแบบได้ไม่จำกัดจำนวนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ ก.ล.ต. อนุมัติโครงการดังกล่าว และถือว่าได้รับอนุมัติทันทีที่ยื่นเอกสารถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ จะช่วยทำให้การอนุมัติคำขอใช้เวลาน้อยลง บลจ. สามารถวางแผนการเสนอขายหน่วยลงทุนและการจัดการลงทุนได้สะดวกขึ้น
2. การยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance : CG)
ก.ล.ต. สนับสนุนให้กรรมการของ บลจ. เข้ารับการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของกรรมการในธุรกิจตัวกลางในตลาดทุน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของกรรมการและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างครบถ้วน โดย ก.ล.ต. จะประสานงานกับสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ในการพัฒนาหลักสูตรให้มีเนื้อหาที่เหมาะสมต่อไป
- สมาคมบริษัทจัดการลงทุนแจ้งว่า ขณะนี้ได้นำข้อมูลสถิติการใช้สิทธิออกเสียงของ บลจ.
ทุกแห่งในการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (“บจ.”) แสดงบนเว็บไซต์ของสมาคม (www.aimc.or.th) แล้ว จึงขอเชิญชวนบริษัทจดทะเบียนและผู้ลงทุนทั่วไปเข้าชมข้อมูลดังกล่าวได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ส่วนเรื่องนโยบายการใช้สิทธิออกเสียง (voting policy) สมาคมอยู่ระหว่างประชุมหารือกับสมาชิก เพื่อกำหนดเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายเดียวที่ใช้กัน
ทั้งอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้บริษัทจดทะเบียนและผู้ลงทุนเกิดความสับสน
3. การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิทางภาษีของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
ตามที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2550 มีมติอนุมัติในหลักการของร่างกฎกระทรวงที่กำหนดว่าหากต้องการสิทธิทางภาษีต้องถือหน่วยลงทุนจนถึงอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยจะให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ดั้งเดิม นั้น
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันกฎกระทรวงดังกล่าวยังไม่ได้ประกาศใช้ ก.ล.ต. และสมาคมจึงมีความเห็นร่วมกันว่า การมีผลบังคับใช้ย้อนหลังจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากผู้ลงทุนอาจมิได้ตระหนักถึงเงื่อนไขที่กำหนดเพิ่มเติมดังกล่าว สมาคมจึงจะมีหนังสือถึงกรมสรรพากรเพื่อขอเลื่อนกำหนดวันมีผลบังคับใช้ให้มีผลไปข้างหน้าเช่นเดียวกับการออกกฎหมายปกติ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “การพัฒนาตลาดทุนให้มีความก้าวหน้า ผมเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลและภาคธุรกิจต้องพบปะหารือกันอย่างสม่ำเสมอเพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น อย่างเช่นในการประชุมวันนี้ ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องขั้นตอนในการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม ซึ่งเริ่มจะเป็นอุปสรรค เนื่องจากผู้ลงทุนหันมาให้ความสนใจในกองทุนรวมมากขึ้น ทำให้คำขออนุมัติที่ยื่นมายัง ก.ล.ต. มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น เพื่อให้การเสนอขายกองทุนรวมทำได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ก.ล.ต. จึงเสนอแนวคิดที่จะนำระบบ shelf-registration มาใช้ ซึ่งทางสมาคมก็ได้ตอบรับแนวคิดดังกล่าว และนอกจากเรื่องนี้
การทำงานในเรื่องอื่นก็จะมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นเช่นกัน รวมถึงการให้ความเห็นชอบการแก้ไขโครงการจัดการกองทุนรวมด้วย อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการทำงานที่ปรับปรุงให้ บลจ. สะดวกขึ้นนี้ ก.ล.ต. ได้พิจารณาแล้วว่าไม่ได้ทำให้ประโยชน์หรือการคุ้มครองผู้ลงทุนด้อยลงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังอยากเห็น บลจ. ในฐานะผู้ลงทุนสถาบัน เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป ทั้งการไปใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นของ บจ. อย่างสม่ำเสมอ เพื่อปกป้องประโยชน์ของกองทุนรวมในฐานะผู้ถือหุ้นตามที่ควรจะเป็น และการจัดทำแนวทางในการใช้สิทธิออกเสียงแสดงไว้ในเว็บไซต์ของสมาคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียนในการปรับปรุง CG และผู้ลงทุนทั่วไปสามารถใช้เป็นแนวทางในการไปใช้สิทธิออกเสียงได้”
นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน อุปนายก สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า “สมาคมและสมาชิกทุกรายได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งของ บลจ. เอง และของ บจ. โดยสมาคมได้นำข้อมูลการไปใช้สิทธิออกเสียงของ บลจ. ทุกแห่งในปีที่ผ่านมา แสดงไว้ที่เว็บไซต์ของสมาคมเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งขณะนี้สมาคมอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางขั้นต่ำสำหรับการออกเสียงไม่เห็นด้วยหรืองดออกเสียงในวาระที่สำคัญๆ โดยจะใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุก บลจ. ข้อมูลดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียน ที่จะนำไปพิจารณาปรับปรุงมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลและการจัดการของ บจ. ได้ รวมถึงเป็นการแสดงความโปร่งใสของ บลจ.ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถตรวจสอบการไปใช้สิทธิออกเสียงของ บลจ. ได้ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนแล้วหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะเผยแพร่แนวทางดังกล่าวภายในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ทั้งนี้ สมาคมต้องขอขอบคุณ ก.ล.ต. ที่ได้รับฟังอุปสรรคและความคิดเห็นของภาคธุรกิจมาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นความร่วมมือที่ทำให้เกิดการพัฒนาของธุรกิจนี้อย่างต่อเนื่อง และทำให้ภาคธุรกิจมีกำลังใจที่จะประกอบธุรกิจในฐานะ good citizen ต่อไป”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ