กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 ติดตามความก้าวหน้าโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังนา ปี 2560 จังหวัดน่าน เดินหน้า จัดตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง 3 ศูนย์ และจัดทำแปลงส่งเสริมการผลิตถั่วเหลืองฤดูแล้งใน 7 อำเภอ พื้นที่รวม 10,000 ไร่ เกษตรกร 2,749 ราย พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตให้แก่เกษตรกร
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการติดตามความก้าวหน้าโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังนา ปี 2560 ของจังหวัดน่าน พบว่า ภาพรวมเกษตรกรจังหวัดน่าน มีพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลือง เฉลี่ย 6.5 ไร่/ครัวเรือน ส่วนใหญ่ใช้แรงงานในครัวเรือน ซึ่งพันธุ์ที่นิยมปลูก คือ เชียงใหม่ 60 มีการใช้เมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 25 กิโลกรัม/ไร่ ทำการเพาะปลูกโดยวิธีหว่านเมล็ด ส่วนการดูแลรักษา เกษตรกรยังคงมีการใช้ปุ๋ยเคมี การใช้ยากำจัดวัชพืช และยากำจัดศัตรูพืช ควบคู่ไปกับสารชีวภาพ ผลผลิตเฉลี่ย 280-300 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งเก็บเกี่ยวโดยการจ้างแรงงานคนในท้องถิ่น อัตราค่าจ้างวันละ 300 บาท/คน จากนั้นพ่อค้าจะเข้ามาบริการสีผลผลิตพร้อมรับซื้อที่ไร่นาของเกษตรกร
จากการติดตามความก้าวหน้าโครงการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองหลังนา ปี 2560 (ปีที่ 1 ครั้งที่ 1) จังหวัดน่าน โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 (สศท.2) พบว่า ได้ดำเนินการแต่ละกิจกรรม ดังนี้
การส่งเสริมผลิตถั่วเหลืองฤดูแล้ง 10,000 ไร่ โดยจัดทำแปลงส่งเสริมการผลิตถั่วเหลืองฤดูแล้งรวม 7 อำเภอ (อ.ภูเพียง / อ.เมือง / อ.บ้านหลวง / อ.แม่จริม / อ.ทุ่งช้าง / อ.เวียงสา / อ.นาหมื่น) พื้นที่รวม 10,000 ไร่ เกษตรกร 2,749 ราย ซึ่งเกษตรกรจะทำการผลิตช่วงฤดูแล้ง (พฤศจิกายน 2560–เมษายน 2561) ลักษณะผลผลิตที่ขายเป็นเมล็ด ราคาเฉลี่ย 16-18 บาท/กิโลกรัม โดยมีการแจกปัจจัยการผลิตในเดือนธันวาคม 2560 ได้แก่ เมล็ดพันธุ์เชียงใหม่ 60 จำนวน 167 ไร่ เชื้อไรโซเบียม 8,820 ถุง และปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจแปลงจากเกษตรกรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละอำเภอ มีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอร่วมลงพื้นที่ตรวจแปลงด้วย
นอกจากนี้ ได้พัฒนาศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองชุมชน โดยจัดตั้งศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง (เมล็ดพันธุ์เชียงใหม่ 60) จำนวน 3 ศูนย์ ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.นาน้อย (50 ไร่) อ.บ้านหลวง (96 ไร่) อ.ภูเพียง (154 ไร่) รวม 300 ไร่ เกษตรกร 128 ราย โดยดำเนินการผลิตถั่วเหลืองฤดูฝน (สิงหาคม–ธันวาคม 2560) ปริมาณผลผลิตทั้ง 300 ไร่ รวม 92 ตัน พร้อมจัดทำแปลงเรียนรู้ 3 แปลงๆ ละ 5 ไร่ รวม 15 ไร่ ปริมาณผลผลิตรวม 4.5 ตัน และแจกเมล็ดพันธุ์เชียงใหม่ 60 ที่ผลิตได้ให้แก่เกษตรกรใน 3 อำเภอ รวมทั้งแปลงเรียนรู้ในอำเภอต่างๆ ที่แจ้งความประสงค์ขอรับเมล็ดพันธุ์
การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต เช่น เทคโนโลยีการผลิตถั่วเหลือง เทคนิคการรวมกลุ่ม (Group) การสร้างเครือข่าย (Network) การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ (Cluster) และการพัฒนาคุณภาพผลิตเมล็ดพันธุ์พืชชุมชนตามมาตรฐาน รวมถึงจัดกิจกรรม "โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่และงานรณรงค์การผลิตถั่วเหลืองชุมชนแบบครบวงจร" ในเดือนมีนาคม 2561 ณ วัดโป่งคำ ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเพียง จังหวัดน่าน มีหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมบูรณาการ
ทั้งนี้ ถั่วเหลืองนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ปัจจุบันยังมีการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ภาครัฐจึงมีนโยบายส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองครบวงจร ด้วยการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการจัดการการผลิต ในช่วงฤดูแล้งเพื่อทดแทนการทำนาปรัง เนื่องจากเป็นพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย ช่วยปรับปรุงบำรุงดิน และเป็นการพักดินเพื่อตัดวงจรโรคแมลงศัตรูพืช ซึ่งจังหวัดน่าน นับเป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าว