กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่น
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ พัฒนาแอปพลิเคชั่น "แพมบา แชร์เวย์ส" (Pamba Shareways) แอปพลิเคชั่นจับคู่การเดินทางร่วมกัน ทั้งทางรถยนต์ส่วนบุคคลและรถแท็กซี่ ลดปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาด้านการคมนาคม และมลภาวะในอากาศในระยะยาว โดยยึดหลักเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) หรือการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้คุ้มค่าที่สุด ทั้งนี้ "แพมบา แชร์เวย์ส" ยังเป็นผลงานเดียวที่ได้รับรางวัลโล่เกียรติยศจากนครเมืองเจนีวา (Prize on stage granted by the City of Geneva) ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุดที่ประเทศไทยได้รับ และรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จากเวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 46(46th International Exhibition Invention Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร 02-564-3001-9 ต่อ 3037 หรือ www.engr.tu.ac.th
ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ปัญหาด้านการคมนาคม การจราจรติดขัด และปัญหาสุขภาพจากมลพิษบนท้องถนน เป็นปัญหาที่ต้องรับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ประกอบกับปัจจุบันกระแสโลกที่มุ่งเน้นทางด้านความยั่งยืน (Sustainability) จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแอปพลิเคชั่นระบบแบ่งปันการสัญจร (Journey Sharing) เพื่อแก้ปัญหาปริมาณรถยนต์บนท้องถนนที่มีจำนวนมากเกินไป และต่อยอดจนสำเร็จเป็นแอปพลิเคชั่น "แพมบา แชร์เวย์ส" (Pamba Shareways) หรือ โปรแกรมสำหรับจับคู่การเดินทางร่วมกันแบบอัตโนมัติทางรถยนต์ส่วนบุคคลและรถแท็กซี่ด้วยฐานเวลาปัจจุบัน ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นในรูปแบบให้บริการทั้งส่วนบุคคลทั่วไป องค์กรของรัฐ และองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) มีเป้าหมายในการลดปัญหาด้านการคมนาคมและมลภาวะในอากาศในระยะยาว โดยยึดหลักเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) หรือการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้คุ้มค่าที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและพันธกิจสำคัญด้านหนึ่งของ มธ. คือ การสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศชาติในด้านสิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร.นพพร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการทำงานของแพมบา แชร์เวย์ส คือ ระบบจะทำการค้นหาและจับคู่ ผู้ที่ต้องสัญจรโดยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถสาธารณะ อาทิ แท็กซี่ ที่มีพื้นที่ว่างในรถ กับผู้ที่ต้องการสัญจรไปในทางเดียวกันแบบอัตโนมัติ ซึ่งเจ้าของรถยนต์ส่วนบุคคลจะได้ค่าตอบแทนจากการแบ่งปันพื้นที่ในการร่วมสัญจร ในอีกมุมหนึ่งผู้ที่ร่วมสัญจรจะสามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายที่น้อยลง ช่วยลดปริมาณรถยนต์และลดการสร้างมลภาวะจากการแบ่งปันการใช้พลังงานเชื้อเพลิง ในด้านของความปลอดภัย แพมบา แชร์เวย์ส มีฟังก์ชันตรวจสอบข้อมูลเพื่อนร่วมทาง ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเข้าไปอ่านข้อมูลของผู้ใช้แอปพลิเคชั่นที่ได้ลงทะเบียนไว้ก่อนการตัดสินใจร่วมสัญจร อีกทั้งยังมีห้องแชท (Chat Room) เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อเพื่อหาข้อมูลของผู้ร่วมสัญจรเพิ่มเติม หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงแผนการเดินทาง ซึ่งสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ทั้ง2 ฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเมืองที่มีปัญหาการจราจรมากที่สุดในอาเซียน และมักติดอันดับต้น ๆ ในโลกเสมอ ด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนนของ กทม. สามารถรองรับจำนวนรถได้ราว 4 ล้านคัน แต่ในปัจจุบันใน กทม. มีจำนวนรถกว่า 6 ล้านคัน ซึ่งมีจำนวนที่นั่งเฉลี่ยประมาณ 4-6 ที่นั่งต่อคัน แต่กลับมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยเพียง 2 ที่นั่งต่อคันเท่านั้น ซึ่งนอกจากปริมาณรถที่มากเกินความสามารถในการรองรับของถนนใน กทม.จะส่งผลให้จราจรติดขัดแล้ว ยังเป็นการสร้างมลภาวะทางอากาศ จากการเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดสภาวะโลกร้อนและทำลายสุขภาพของประชาชน โดย แพมบา แชร์เวย์ส จะเป็นหนึ่งในทางออกที่จะสามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ผศ.ดร.นพพร กล่าวเสริม
อย่างไรก็ตาม สำหรับมหาวิทยาลัยหรือองค์กรต่างๆ ที่มีการใช้รถตู้ และต้องการมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง (Social Impact) ในด้านลดปัญหาด้านการคมนาคมและมลภาวะในอากาศตามที่กล่าวข้างต้น ยังสามารถนำ "แพมบา แชร์เวย์ส" ไปใช้ในการแบ่งปันเส้นทางในการเดินทางของบุคลากรหรือการส่งของ ที่ปกติอาจไม่มีระบบในการรวบรวมเส้นทางที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุด วัน เวลา เป็นต้น ซึ่งจะช่วยทำให้การใช้ทรัพยากรขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสามารถและปรับปรุงให้ดีขึ้นได้
ทั้งนี้ จากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดมลภาวะทางอากาศนั้นถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับสากล ส่งผลให้ แพมบา แชร์เวย์ส ที่เปรียบเสมือนแนวทางการแก้ไขปัญหานี้อย่างตรงจุด จึงเป็นผลงานเดียวที่ได้รับรางวัลโล่เกียรติยศ จากนครเมืองเจนีวา (Prize on stage granted by the City of Geneva) ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุดที่ประเทศไทยได้รับ และรางวัลเหรียญทอง (Gold Medal) จากเวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 46 (46th International Exhibition Invention Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ "แพมบา แชร์เวย์ส" ได้เปิดให้ดาวน์โหลดและใช้บริการฟรี ทั้งในระบบแอนดรอยด์ (Android) และไอโอเอส (IOS) รวมถึงสามารถใช้งานผ่านเวปไซต์ www.pambashare.com คณะผู้วิจัยได้เริ่มพัฒนาแอปพลิเคชั่นนี้มาตั้งแต่ปี 2559 และมีแผนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และได้ทดสอบโดยการปล่อยให้มีการดาวน์โหลดและใช้งานในปลายปี 2560 มียอดดาวน์โหลดมากกว่า3,000 คน ส่วนในระดับองค์กรมีแผนจะเริ่มให้บริการกับบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อน และมีเป้าหมายให้ แพมบา แชร์เวย์ส ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอนาคต เพื่อเป็นการลดปริมาณรถและมลภาวะในอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ผศ.ดร.นพพร กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทร 02-564-3001-9 ต่อ 3037 หรือ www.engr.tu.ac.th