สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางหนุนราคาน้ำมันดิบทะยานอย่างต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 24, 2018 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--ไทยออยล์ บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 23 เมษายน 2561 ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 65 -70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 72 -77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (23 – 27 เม.ย. 61) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูงในระยะสั้น โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยความไม่สงบด้านภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ปะทุขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้อุปทานน้ำมันดิบปรับลดลง ทั้งนี้ ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์ความไม่สงบในซีเรียที่กลับมาระอุอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐฯ รวมทั้งชาติพันธมิตรสั่งยิงขีปนาวุธโจมตีประเทศซีเรีย เพื่อตอบโต้รัฐบาลซีเรียที่ใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่ปรับลดลงและอาจแตะระดับเฉลี่ย 5 ปี ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันสามารถปรับลดกำลังการผลิตจนใกล้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยซาอุดิอาระเบียส่งสัญญาณเพิ่มเติมที่จะตั้งเป้าให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 80 - 100 เหรียญฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบอาจถูกจำกัดโดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้: - จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้อุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาคตึงตัวขึ้น โดยล่าสุดกบฏฮูตีในเยเมนเปิดฉากยิงขีปนาวุธโจมตีกรุงริยาดของซาอุดิอาระเบีย โดยที่ซาอุดิอาระเบียสามารถยิงสกัดขีปนาวุธลูกหนึ่งได้เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดวิตกว่าสหรัฐฯ อาจถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน และทำการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกในปริมาณที่จำกัด ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีกำหนดที่จะต้องต่ออายุการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านตามข้อตกลงนิวเคลียร์ก่อนหมดอายุในวันที่ 12 พ.ค.นี้ - สถานการณ์ความไม่สงบในซีเรียกลับมาระอุอีกครั้ง หลังจากที่สหรัฐฯ รวมทั้งชาติพันธมิตร ได้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษสั่งยิงขีปนาวุธจำนวน 105 ลูกไปยังประเทศซีเรีย เพื่อตอบโต้รัฐบาลซีเรียที่ถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธเคมีสังหารประชาชนในเมืองดูมา เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 60 คน และบาดเจ็บมากกว่า 1,000 ราย โดยตลาดวิตกว่าเหตุการณ์อาจขยายวงกว้าง และลุกลามไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางจนส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ล่าสุดความกังวลดังกล่าวได้คลี่คลายลง หลังจากที่การโจมตียังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ในขณะที่ สหรัฐฯ สั่งหยุดยิงขีปนาวุธชั่วคราวเพื่อรอดูท่าทีของซีเรีย - สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลก ปรับลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงปี 2561 ที่ผ่านมาและมีแนวโน้มปรับลดลงต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยล่าสุด IEA เปิดเผยว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังเชิงพาณิชย์ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD Oil Stocks) ณ สิ้นเดือน ก.พ. ปรับลดลดลงสู่ระดับ 2.8 พันล้านบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ราว 30 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ IEA คาดว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังอาจแตะระดับเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่กลุ่มผู้ผลิตตั้งเป้าไว้ หรืออาจลดลงไปได้ต่ำกว่านั้น ภายในเดือน พ.ค. นี้ นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ส่งสัญญาณที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบต่อไป โดยตั้งเป้าให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 80 - 100 เหรียญฯต่อบาร์เรล - ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับต้นทุนเฉลี่ยในการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตในสหรัฐฯ โดยการปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันจาก Shale oil ในเดือน พ.ค. ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นราว 0.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือน เม.ย. สู่ระดับ 7.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ - ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน จำนวนผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก และจีดีพีไตรมาส 1/61 ของสหรัฐฯ ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) และความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโรโซน สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 – 20 เม.ย. 61) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความไม่สงบในซีเรีย หลังจากที่สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตก ได้แก่ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร เปิดฉากโจมตีฐานอาวุธเคมีในซีเรีย ซึ่งสร้างความกังวลว่าสถานการณ์จะลุกลามจนส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตในภูมิภาค รวมทั้งความกังวลว่าสหรัฐฯ อาจพิจารณาคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้อิหร่านส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกในปริมาณที่จำกัด นอกจากนี้ ตลาดได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง จากแรงหนุนของอุปสงค์ที่ปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดได้รับแรงกดดันบางส่วนจากความกังวลต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนแท่นขุดเจาะที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ