กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะผู้นำด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง เดินหน้าสร้างสังคมไร้เงินสด Cashless Society ในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ภายใต้โครงการ "Smart University" เพื่อร่วมกันบูรณาการและสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ รวมถึงระบบนิเวศ (Ecosystem) ทางด้านดิจิทัล เชื่อมโยงแพลตฟอร์มการบริหารจัดการ การเรียนการสอน โครงสร้างพื้นฐาน และการใช้ชีวิตยุคดิจิทัลในมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรเตรียมความพร้อมสู่สังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society นวัตกรรมการเงินดิจิทัลที่ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ก้าวสู่ความเป็นต้นแบบแห่ง "Digital Convergence University" มุ่งสู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี กล่าวว่า "ปัจจุบันดิจิทัลเทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ในทุกภาคส่วน มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะดิจิทัลเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญต่อพันธกิจของมหาวิทยาลัยในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นด้านการวิจัย ด้านการศึกษา ด้านบริการวิชาการ รวมไปถึงการบริหารจัดการ อีกทั้งยังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันของทุกคน มหาวิทยาลัยมหิดลไม่หยุดยั้งในการพัฒนาศักยภาพของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อยกระดับสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ภายใต้โครงการ "Smart University" ในครั้งนี้ จะเป็นการร่วมกันสร้างองค์ความรู้และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี สภาพแวดล้อม และด้านอื่นๆ ที่สำคัญในมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อส่งเสริมให้อาจารย์ บุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยทัดเทียมในระดับสากล ที่จะช่วยส่งเสริมให้สามารถแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับสากล สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มกำลังความสามารถและจบการศึกษาออกไปเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป"
นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Corporate Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า "ความร่วมมือระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์และมหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านโครงการ "Smart University" ในครั้งนี้ ทั้งสององค์กรจะร่วมมือกันพัฒนา Ecosystem หรือระบบนิเวศด้านดิจิทัล ผ่านการเชื่อมโยงแพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัยฯ ทั้งด้านการบริหารจัดการ การเรียนการสอน โครงสร้างพื้นฐาน และการใช้ชีวิตยุคดิจิทัล ภายใต้แนวคิด "Digital Convergence University" ผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ 1) ระบบการเชื่อมต่อระหว่างวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่ง (ศาลายา, กาญจนบุรี, นครสวรรค์ และอำนาจเจริญ) ผ่านโครงสร้างพื้นฐานและสื่อต่างๆ สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ พร้อมระบบ Interactive สำหรับอาจารย์และนักศึกษา 2) ระบบ MU application เพื่อรองรับสังคมการเรียนรู้แบบใหม่ และไลฟ์สไตล์ของนักศึกษา 3) ห้องสมุดมหาวิทยาลัยอัจฉริยะ (Intelligence Library) คลังความรู้แห่งใหม่ที่จะนำเอาดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้บริการ 4) นวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกต่างๆ ในมหาวิทยาลัย อาทิ Smart ID Card บัตรประจำตัวนักศึกษาและบุคลากร, อุปกรณ์และระบบรับชำระเงินแบบไร้เงินสด (Cashless Society), ระบบที่จอดรถ, Smart Locker และ One-stop service kiosk สำหรับการออกเอกสารทางการศึกษา เป็นต้น นับเป็นการสร้างมิติใหม่แห่งการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล 4.0 ที่นอกจากจะช่วยสนับสนุนนโยบายเชิงรุกของมหาวิทยาลัยฯ ให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ รวมถึงเป็นการขานรับนโยบาย Thailand 4.0 ของประเทศ ธนาคารมั่นใจว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การบริการ และการวิจัย ของมหาวิทยาลัยมหิดลให้มุ่งสู่ความเป็นเลิศ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้ขององค์กรต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ที่สำคัญจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐและเอกชนที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน"