กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส
สภาวะตลาดวันที่ 24 เมษายน 2561 ราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบที่ระดับ 1,321.80-1,328.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ภายในประเทศขายออกอยู่ที่ 19,800 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาปรับตัวลดลง 50 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 19,850 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่โกลด์ฟิวเจอร์ส GFJ18 อยู่ที่ 19,860 บาท โดยราคาปรับตัวลดลง 40 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 19,900 บาท
(หมายเหตุ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้น ณ เวลา 15.35 น. ของวันที่ 24/04/61)
แนวโน้มวันที่ 25 เมษายน 2561
ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 ปี ที่ 2.998% โดยได้รับแรงผลักดันจากความวิตกเกี่ยวกับอุปทานตราสารหนี้รัฐบาลที่เพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเงินเฟ้อในสหรัฐมีความอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันอย่างมาก ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับขึ้นหลายวันติดต่อกัน โดยผ่าน 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากคาดการณ์ที่ว่า อุปทานจะตึงตัวขึ้น และแนวโน้มที่สหรัฐอาจจะคว่ำบาตรอิหร่าน รวมทั้งการลดผลผลิตน้ำมันที่นำโดยโอเปกจะยังคงดำเนินต่อไป ทั้งนี้ สหรัฐมีเวลาจนถึงวันที่ 12 พ.ค. ในการตัดสินใจว่าสหรัฐจะถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านหรือไม่ ซึ่งจะทำให้อุปทานทั่วโลกตึงตัวต่อไป โดยอิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโอเปก ทั้งนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐได้รับแรงหนุนเพิ่มจากคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอีก 3 ครั้งหรือมากกว่าในปี 2561 เมื่อข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐแสดงถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความแตกต่างกันด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางอาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่ง เฟดเป็นธนาคารกลางเพียงแห่งเดียวที่คุมเข้มนโยบาย ขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆยังไม่เร่งรีบต่อการคุมเข้ม จนดันให้ดอลลาร์สหรัฐแตะจุดสูงสุดรอบ 3 เดือนเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงิน ทั้งนี้ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ฮารุฮิโกะ คูโรดะ ย้ำถึงนโยบายการเงินของญี่ปุ่นยังจำเป็นต้องอยู่ในลักษณะที่ผ่อนคลายมากต่อไป จนกว่าสภาพเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจจะปรับขึ้นไปสูงกว่าระดับปัจจุบัน ขณะที่การประชุมกำหนดนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์นี้ คาดว่าเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายจะส่งสัญญาณไม่เปลี่ยนแปลงนโยบาย ซึ่งส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ-ญี่ปุ่น และสหรัฐ-เยอรมันขยายกว้างขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อดอลลาร์ ทำให้เยนและยูโรปรับตัวลง จนเพิ่มแรงกดดันต่อราคาทองคำ ในระยะสั้นหากราคาทองคำขยับขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,337-1,346 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยบริเวณนี้นักลงทุนที่สะสมทองคำไว้อาจขายทำกำไรออกมาเพื่อลดความเสี่ยง
กลยุทธ์การลงทุน ราคาทองคำพยายามพยุงราคาและพยายามตั้งฐานของราคา โดยถ้าราคามีการปรับตัวลดลงและไม่หลุดแนวรับ นักลงทุนยังสามารถเข้าซื้อทองคำเพื่อลงทุนระยะสั้นจากการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ ซึ่งคาดการณ์แนวรับที่ระดับราคาโซน 1,321-1,313 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยหากราคาทองคำสามารถยืนเหนือแนวรับได้ราคามีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ระดับราคา 1,337 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ การเข้าซื้อยังคงเน้นการเก็งกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัว โดยเข้าซื้อเฉพาะเมื่อราคาปรับตัวลงมาในบริเวณแนวรับ โดยตัดขาดทุน หรือ ลดการถือครองทองคำลงหากหลุดแนวรับโซน 1,313 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ทองคำแท่ง (96.50%)
แนวรับ 1,313 (19,500บาท) 1,302 (19,350บาท) 1,294 (19,200บาท)
แนวต้าน 1,337 (19,900บาท) 1,346 (20,050บาท) 1,356 (20,200บาท)
GOLD FUTURES (GFJ18)
แนวรับ 1,313 (19,660บาท) 1,302 (19,500บาท) 1,294 (19,380บาท)
แนวต้าน 1,337 (20,030บาท) 1,346 (20,160บาท) 1,356 (20,310บาท)
หากต้องการทราบทิศทางราคาทองคำและแนวทางลงทุนทองคำ ขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากทีมที่ปรึกษาการลงทุนด้านโกล์ดฟิวเจอร์ส โทร.02-687-9999