ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสนับสนุนของไทยธนาคารที่ ‘4’

ข่าวทั่วไป Monday October 1, 2007 13:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) ของธนาคารไทยธนาคาร หรือ BT ที่ระดับ ‘4’
ขณะที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินหรือ FIDF ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงถือหุ้นใน BT ในสัดส่วน 33% แต่สัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะลดลงในระยะปานกลาง ฟิทช์ให้ความเห็นว่าการลดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐบาลในอนาคต อาจมีผลต่ออันดับเครดิตสนับสนุนของ BT BT สามารถทำการเพิ่มทุนจำนวน 3 พันล้าน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 จากการเพิ่มทุนโดยกลุ่ม TPG Newbridge ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นใน BT ในสัดส่วน 33% อันดับเครดิตสนับสนุนของ BT สะท้อนถึงความเห็นของฟิทช์ว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำที่ BT จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในระยะยาวเนื่องจากเป็นธนาคารขนาดเล็กและยังไม่ได้มีความสำคัญมากนักต่อระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวม อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ธนาคารยังคงน่าจะได้รับการสนับสนุนจาก TPG Newbridge และ FIDF
สถานะความแข็งแกร่งของ BT ยังคงมีข้อจำกัดในด้านเครือข่ายของธนาคารและเงินทุนที่อ่อนแอ โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2549 ส่วนแบ่งผลขาดทุนจากการจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพภายใต้สัญญา Covered Asset Pool หรือ CAPระหว่างธนาคารกับ FIDF มีผลทำให้ BT ต้องรับรู้ผลขาดทุนที่เกิดขึ้น 3.9 พันล้านบาท ประกอบกับการกันสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นจำนวน 2 พันล้านบาท ทำให้ธนาคารมีผลขาดทุนสุทธิจำนวนมากในปี 2549 อยู่ในระดับเกือบครึ่งหนึ่งของเงินทุนของธนาคาร นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550 BT ยังคงมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวนประมาณ 500 ล้านบาท เนื่องจากการกันสำรองเกี่ยวกับการผิดชำระหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง
ในเดือนกรกฎาคม 2550 BT ได้เปิดเผยว่าธนาคารมีการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้กู้ซึ่งมีรายได้ต่ำ (Subprime Residential Mortgage Assets หรือ Subprime) จำนวน 1.76 พันล้านบาท และมีเงินลงทุนทั้งหมดในตราสารหนี้ประเภท Collateralized Debt Obligation หรือ CDO ทั้งหมดประมาณ 14.5 พันล้านบาท จนถึงขณะนี้ ธนาคารได้ทำการกันสำรองในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับ Subprime ไปเพียงประมาณ 300 ล้านบาท BT ได้ทำบันทึกบัญชีการลงทุนใน CDO จำนวน 11.4 พันล้านบาท เป็นหลักทรัพย์ในส่วนที่ธนาคารถือจนครบกำหนด (Held to Maturity) โดยใช้ราคาทุนในการบันทึกบัญชี และจำนวน 3.1 พันล้านบาทเป็นลักษณะการลงทุนโดยใช้ราคาตลาดในการบันทึกบัญชี ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการบันทึกผลขาดทุนจากการลงทุนในหลักทรัพย์นี้ตามราคาตลาด (mark to market loss) เพิ่มขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ธนาคารได้เปิดเผยว่าธนาคารได้มีการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร(Structured Notes) สูงถึง 38 พันล้านบาท ซึ่งความเสี่ยงจากการลงทุนดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ โดยธนาคารรายงานว่า Structure Notes ที่ธนาคารเข้าลงทุนดังกล่าวเป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารและสถาบันการเงินต่างประเทศ ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ ‘A’ หรือ สูงกว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2550 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 11% ของสินเชื่อทั้งหมด ในขณะที่เงินกองทุนของธนาคารที่ระดับ 9% จัดอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำหากพิจารณาเทียบกับปัจจัยความอ่อนไหวของธนาคารต่อปัจจัยต่าง ๆ ฟิทช์มีความเข้าใจว่าผู้บริหารของธนาคารและผู้ถือหุ้นกำลังพิจารณาในเรื่องของระดับเงินกองทุนอยู่
ติดต่อ
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ