กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--
เปิดบทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง แนะนำ "ซื้อ" หุ้น SGP ประเมินราคาเหมะสมที่ 37 บาท ชี้ค่า P/E แค่ 9 เท่า ขณะที่จ่ายปันผลสูงเกิน 5% ต่อปี ระบุยอดขายแก๊สในประเทศเป็นรองแค่ ปตท.เท่านั้น อนาคตมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก ทั้งจากยอดขายในประเทศและการรุกคืบบุกตลาดในประเทศจีนตอนเหนือ ด้านผู้บริหาร "ศุภชัย วีรบวรพงศ์" มั่นใจยอดขายปี 61 โตเกิน 10% หลังขยายตลาดในประเทศจีนตอนเหนือ แย้มไตรมาส 2/61 จ่อบุ๊ครายได้โรงไฟฟ้าพลังงานดีเซลในเมียนมา กำลังการผลิต 10 MW ดันรายได้ทำสถิติสูงสุดใหม่
บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เผยแพร่บทวิเคราะห์ หุ้น บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP โดยแนะนำ "ซื้อ"ด้วยราคาเหมาะสมพื้นฐานที่ 37 บาท อิง PE 12 เท่า โดยมีประเด็นที่สำคัญคือ SGP เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเงินปันผลเกิน 5% ต่อปี ปัจจุบันมีค่าพีอีเรโชว์ (P/E) ต่ำเพียง 9 เท่า แถมยังมีศักยภาพในการเติบโตต่อจากนี้ไปได้อีกมาก ทั้งจากยอดขายแก๊สในและต่างประเทศ,การขยายโรงไฟฟ้าในต่างประเทศและความร่วมมือกับEGATInter, ลุ้นโอกาสนาเข้าแก๊สขายให้กับ EGAT, มี Hidden assetจำนวนมากพร้อมจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ
ในบทวิเคราะห์ระบุว่าการขายแก๊สในประเทศ SGP มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 รองจาก ปตท. ทั้งภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม นับแต่บริษัทเริ่มนาเข้าแก๊สเองตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่งผลให้มีต้นทุนที่ถูกลง และการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ ปัจจุบันบริษัทฯนำเข้าแก๊สเองราว 50% ของปริมาณขายในประเทศ ซึ่งประมาณการกำไรมี upside risk จากการที่บริษัทฯเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าเองเพื่อขยายตลาดในประเทศไปสู่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
พร้อมกันนี้ได้ประเมินว่าปริมาณการใช้แก๊สในจีนจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณจากปีนี้ไป สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่ประกาศ ส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด แก๊สปิโตรเลียม พร้อมทั้งสั่งลดการใช้ ถ่านหินลง คาดยอดขายแก๊สของ SGP ในจีนจะได้อานิสงส์นี้ ช่วยผลักดันยอดขายผนวกกับเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวแข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง และเรายังเห็นโอกาสอีกมาก ในการขยายช่องทางขายแก๊สไปยังจีนตอนเหนือที่ SGP กำลังรุกเพิ่ม ส่วนแบ่งตลาดอยู่ในขณะนี้
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาประเทศบังกลาเทศ จากเดิมใช้ระบบท่อแก๊ส ซึ่งกำลังทรุดโทรม โดยรัฐบาลได้ทยอยยกเลิกระบบเดิม และปล่อยให้ประชาชนหันมาสั่งแก๊สบรรจุถังใช้ในครัวเรือนแทน ทำให้ระบบผูกขาดจากการส่งแก๊สผ่านท่อหมดไป และเปิดช่องให้ผู้ค้าแก๊สอย่าง SGP มีโอกาสในการได้ส่วนแบ่งตลาดจากประเทศนี้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บล.บัวหลวง มองว่า SGP มีศักยภาพในการเติบโตได้ดีกว่าคาดจากการลงทุนในโครงการใหม่ (1) คลังแก๊ส LPG ที่มาเลเซียขนาด 5 พันตัน คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 3Q18 ซึ่งจะช่วยเพิ่มยอดขายในมาเลเซีย ให้ดีขึ้นจากปัจจุบันที่ระดับ 3,000 ตัน/ปี เป็น 10,000 ตัน/ปี (2) การร่วมทุนสร้างคลังแก๊สและท่าเรือที่อินโดนีเซียขนาด 3-5 พันตัน จะหนุนปริมาณขายเพิ่มจากจากปัจจุบันมีการส่งออกแก๊สให้ลูกค้าเพียงอย่างเดียว (3) การ M&A เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าขนาด 230 MW ที่พม่า ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯถือหุ้นอยู่ 36.1% โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้จ่ายไฟเข้าระบบแล้ว และยังมีโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่จะขายไฟโดยตรงให้ชุมชนที่เตรียมพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก (4) การเปิดเสรีนาเข้าแก๊สเต็มรูปแบบได้เปิดโอกาสให้ SGP ที่ร่วมกับ EGAT-I มีโอกาสเข้าร่วมประมูลงานนำเข้า LNG เพื่อขายให้EGAT ใช้ผลิตไฟฟ้า โดยขั้นแรกจะเปิดให้เอกชนเข้าประมูลก่อนที่ 1.5 ล้านตัน
ด้านนายศุภชัย วีรบวรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) (SGP) กล่าวว่า บริษัทฯตั้งเป้าหมายรายได้ในปี 2561เติบโตมากกว่า 10% หรือประมาณ 3.5 ล้านตัน เทียบปีที่ผ่านมีรายได้รวมประมาณ 60,000 ล้านบาท จากยอดขายกว่า 3.2 ล้านตัน โดยได้รับปัจจัยบวกยอดขายก๊าซแอลพีจีที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศผลักดันรายได้ทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง
สำหรับแผนการดำเนินงานในธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในปี 2561 บริษัทฯเตรียมขยายตลาดเข้าสู่ประเทศจีนตอนเหนือมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จากปัจจุบันที่เป็นผู้นำตลาดในจีนตอนใต้ โดยเป็นผู้นำเข้า LPG ติดอันดับหนึ่งในสาม ในประเทศจีน และมีคลังเก็บก๊าซใต้ดินขนาดใหญ่สองแห่งในจีน อยู่ที่เมืองซัวเถาและเมืองจูไห่ รวมจำนวน 300,000 ตัน และขยายตลาดใหม่ต่อเนื่อง
อนึ่ง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา บริษัทฯและบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเป็นผู้จัดหาและจัดส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas–LNG) เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าในประเทศไทย ตามแผนสำรองพลังงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
อนึ่ง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2561 โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานดีเซลในเมียนมา ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายให้กับสหกรณ์หมู่บ้านโดยตรง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10 เมกะวัตต์ (MW) ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ (COD) คาดว่าจะมีรายได้จากการขายไฟเฉลี่ย 340 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะบันทึกเป็นรายได้เข้ามาในไตรมาส 2/61