กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--PwC ประเทศไทย
PwC เผยหน่วยงานตรวจสอบภายในกำลังเผชิญกับความท้าทาย ในการช่วยองค์กรบริหารความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมภายใน หลังกระแสของการใช้นวัตกรรมมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกัน ที่ต้องช่วยหนุนองค์กรขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว รายงานล่าสุดพบว่า หน่วยงานตรวจสอบภายในที่ปรับตัวเพื่อตอบรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยมีกลยุทธ์ที่เชื่อมโยงเทคโนโลยีเข้ากับความสามารถของบุคลากร สามารถเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจให้กับองค์กรได้มากกว่ารายอื่น
นาย พงษ์ศักดิ์ อัชชะกุลวิสุทธิ์ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน 2018 State of the Internal Audit Profession Study: 'Moving at the speed of innovation: The foundational tools and talents of technology-enabled Internal Audit' ที่ทำการสำรวจผู้บริหารระดับสูง คณะกรรมการบริษัท และผู้สอบบัญชีมากกว่า 2,500 รายใน 92 ประเทศทั่วโลกว่า ปัจจุบันองค์กรต่างนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนี่ถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานตรวจสอบภายใน ที่จะต้องตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ทัน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า องค์กรจะมีกระบวนการทำงานและการควบคุมภายใน ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโต
"ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และระดับของการประยุกต์ใช้นวัตกรรมขององค์กรที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว อย่างไม่เคยมีมาก่อน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงใหม่ๆ ที่หน่วยงานตรวจสอบภายในต้องตามให้ทัน โดยความสำเร็จของงานตรวจสอบภายใน ไม่ได้อยู่ที่การป้องกัน หรือบรรเทาความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายรวมถึง การรู้จักนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย"
ทั้งนี้ ผลจากการสำรวจพบว่า 75% ของทีมตรวจสอบภายในที่มีกลยุทธ์ที่ผนวกเทคโนโลยีกับความสามารถของบุคลากรเข้าด้วยกันช่วยสร้างคุณค่าให้กับองค์กรได้อย่างมีนัยสำคัญ เปรียบเทียบกับ 34% ของทีมที่ยังขาดกลยุทธ์และทักษะทางด้านนี้
ด้าน นาย แอนดรูว์ แมคเฟอร์สัน หัวหน้าสายงานกำกับดูแลความเสี่ยง การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และการตรวจสอบภายใน บริษัท PwC โกลบอล กล่าวว่า "ปัจจุบันผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทคาดหวังให้ผู้ตรวจสอบภายใน ต้องเป็นผู้ที่มีมุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ และสามารถให้คำแนะนำในการนำการควบคุม และบริหารความเสี่ยงของนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย ในขณะที่ก็ต้องพิจารณาเป็นว่า นวัตกรรมอาจเข้ามาเปลี่ยนรายการความเสี่ยงขององค์กร หรือมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในแต่ละวันอย่างไร"
รายงานของ PwC ยังระบุด้วยว่า มีหน่วยงานตรวจสอบภายในขององค์กรเพียงแค่ 14% เท่านั้น ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอยู่ในระดับสูง หรือ ผู้พัฒนา (Evolver) โดยเป็นที่น่าแปลกใจว่า หน่วยงานตรวจสอบภายในกลุ่มนี้ ไม่ได้ถูกพบในองค์กรใหญ่ๆ หรือกลุ่มธุรกิจที่ต้องการการกำกับดูแลเพียงอย่างเดียว แต่ยังกระจายไปในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม แตกต่างกันตามขนาด และภูมิศาสตร์ที่บริษัทตั้งอยู่ สะท้อนให้เห็นว่า หลายองค์กรสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ ที่ถือเป็นอุปสรรคทางด้านเทคโนโลยีได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณ และขนาดขององค์กร
นอกเหนือจากนี้ 46% ของหน่วยงานตรวจสอบภายในที่ทำการสำรวจนั้น มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอยู่ในระดับที่ช้ากว่า หรือเรียกว่าเป็น ผู้ตาม (Follower) และ 37% ที่เหลือยังคงมีความล้าหลังในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี โดยอยู่ในระดับที่เรียกว่าเป็น ผู้สังเกตการณ์ (Observer)
ทั้งนี้ รายงานยังได้เน้นคุณลักษณะของหน่วยงานตรวจสอบภายในที่อยู่ในระดับผู้พัฒนาว่า เป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านๆ ดังต่อไปนี้
1. การขับเคลื่อนเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กับความสามารถของบุคลากร โดยมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีและมีบุคลากรมากความสามารถมากกว่าหน่วยงานตรวจสอบภายในที่อยู่ในระดับอื่น โดย 72% ของผู้พัฒนานั้น มีความเชี่ยวชาญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสามารถสรรหาบุคลากรมากความสามารถที่ตนต้องการได้ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ตาม (46%) และผู้สังเกตการณ์ (29%)
2. การสร้างกลยุทธ์ที่เน้นไปที่การใช้นวัตกรรม 85% ของผู้พัฒนาให้ความสนใจกับการสร้างความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี โดยผนวกเป็นส่วนหนึ่งของแผนเชิงกลยุทธ์ เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ตาม (61%) และผู้สังเกตการณ์ (38%)
3. การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการยกระดับการทำงานร่วมกัน หน่วยงานตรวจสอบภายในที่มีความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการทำงาน จะมีความโดดเด่นในการจัดการความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประสิทธิภาพของต้นทุน มากกว่าหน่วยงานตรวจสอบภายในที่ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องนี้
4. การกลั่นกรองข้อมูลที่สำคัญด้วยตนเอง มากกว่า 80% ของหน่วยงานตรวจสอบภายในที่อยู่ในระดับที่เป็นผู้พัฒนา มีความสามารถในการกลั่นกรองข้อมูลที่ตนต้องการได้มากกว่าหน่วยงานตรวจสอบภายในที่อยู่ในระดับอื่น
5. การใช้เครื่องมือ และชุดทักษะการทำงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพ หน่วยงานตรวจสอบภายในที่อยู่ในระดับที่เป็นผู้พัฒนา มีความสามารถในการโน้มน้าวให้ผู้บริหารลงทุนเพื่อบริหารความเสี่ยงจากการใช้เทคโนโลยีได้มากกว่าหน่วยงานตรวจสอบภายในที่อยู่ในระดับอื่น ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก ไปจนถึง การนำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการทำงาน
ผลสำรวจของ PwC ย้ำว่า การตรวจสอบภายใน จำเป็นจะต้องมีความพร้อมทั้งในแง่กลยุทธ์ทางด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่แข็งแกร่ง เพื่อช่วยพัฒนาขีดความสามารถขององค์กร ซึ่งกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การตรวจสอบภายในมีประสิทธิภาพนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การมีแผนงานที่ดีเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การผลักดันและส่งเสริมในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง โดยการผสมผสานระหว่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และความสามารถของบุคลากรในองค์กร จะเป็นตัวแปรสำคัญที่เร่งให้เกิดความก้าวหน้าในด้านนี้ได้ดียิ่งขึ้น
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "สำหรับหน่วยงานตรวจสอบภายในขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทยเอง ควรต้องเร่งศึกษาและลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับกับการตรวจสอบภายใน เพื่อช่วยให้ธุรกิจไทย สามารถบริหารความเสี่ยงและดำเนินธุรกิจไปตามกลยุทธ์ที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น"