กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--เพนเน็ตเทรท
ท่ามกลางกระแสการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของนมผสมสำหรับเลี้ยงทารกอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ กอปรกับในภาวะปัจจุบันที่ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้านกันมากขึ้น เมื่อมีบุตรผู้หญิงจำนวนไม่น้อยจึงเลี้ยงลูกด้วยนมผสม ทั้งที่ในความจริงแล้วการให้นมแม่นอกจากช่วยถ่ายทอดความรักและผูกพันธ์จากแม่สู่ลูกได้เป็นอย่างดี แต่สาเหตุที่คุณแม่มักไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรกได้ คือ การขาดการสนับสนุนจากหน่วยงาน หรือองค์กรที่ทำงานอยู่ ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อได้ และจากแรงจูงใจเรื่องค่าตอบแทนถ้าคุณแม่กลับมาทำงานได้เร็ว สถาบันฯ พบว่าคุณแม่ที่ทำงานให้ลูกกินนมแม่มีเฉลี่ยเพียง 2.2 เดือนเท่านั้น สถาบันฯ จึงได้จัดทำโปรแกรมที่ชื่อว่า “รักและห่วงใย ใส่ใจผู้เป็นแม่ สู่ชาวสถาบันฯ” โดยริเริ่มสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ในสถาบันฯ เป็นตัวอย่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างถูกต้อง ซึ่งโครงการนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบของการสนับสนุนการเลี้ยงลูกในสถานประกอบการ
พญ.สุรภี เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า โปรแกรม “รักและห่วงใย ใส่ใจผู้เป็นแม่ สู่ชาวสถาบันฯ” เป็นที่ยอมรับกันว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว อย่างน้อย 6 เดือน และให้กินนมแม่ต่อไปถึงอายุ 2 ปี จะเป็นต้นทุนสุขภาพเด็กที่สำคัญ ช่วยให้เด็กเล็กๆ ไม่เจ็บป่วยบ่อย ส่งผลให้มีการเจริญเติบโต พัฒนาการและเชาวน์ปัญญาดีกว่าเด็กกินนมผสมได้ดีกว่า 2-11 จุด และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้อีกด้วย ซึ่งสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ เมื่อคุณแม่กลับจากทำงานแล้วไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานให้ยังคงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อได้
1 ข้อมูลปัจจุบันพบว่า แม่หลังคลอด ณ วันจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ถึงร้อยละ 90 แต่เมื่อลูกอายุ 4 เดือน จะเหลือเพียงร้อยละ 50 ที่ยังคงกินนมแม่อยู่ และในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 16 ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างถูกต้อง
2 การศึกษาของสถาบันสุขภาพเด็กฯ พบว่า แม่ที่ทำงานให้ลูกกินนมแม่เฉลี่ยเพียง 2.2 เดือน และถึงแม้จะมีสิทธิลาคลอดได้ 90 วัน แต่แม่ทั้งในระบบราชการและระบบเอกชนร้อยละ 30 นั้นใช้สิทธิไม่ครบ ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากแม่ยังไม่เห็นความสำคัญของการอยู่เลี้ยงลูก และมีแรงจูงใจเรื่องค่าตอบแทนถ้ากลับมาทำงานเร็ว
ในฐานะเป็นสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติเห็นว่า กลวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้แม่ทำงานยังคงให้ลูกได้กินนมแม่แม้เมื่อเป็นเวลาทำงานคือ การที่หน่วยงานให้การสนับสนุนแม่อย่างเป็นรูปธรรม จึงได้จัดทำโปรแกรม “รักและห่วงใย ใส่ใจผู้เป็นแม่ สู่ชาวสถาบันฯ” เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมเจ้าหน้าที่ของสถาบันฯ ให้เป็นต้นแบบของการให้นมลูกในสถานประกอบการ ชุดโปรแกรมประกอบด้วย
1. การเตรียมพร้อมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
2. การมอบกระเป๋ารักและห่วงใย
3. การอนุญาตให้แม่ได้พักระหว่างงานเพื่อให้นมลูกได้วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที จนลูกอายุครบ 6 เดือน (Breastfeeding Break)
4. สิทธิพิเศษฝากลูกในเดย์แคร์นมแม่ได้ ( Breastfeeding Day Care)
ซึ่งพบว่าภายหลังการดำเนินการ 1 ปี บุคลากรของสถาบันฯ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการและลูกจ้างชั่วคราว จำนวนรวม 22 คน สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในระยะเวลา 6 เดือน ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.00 ซึ่งก่อนหน้านั้นอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีเพียงร้อยละ 11 ภญ.ปิลันธนา เขมะพันธุ์มนัส คุณแม่เภสัชกรที่เข้าร่วมโปรแกรมกล่าวว่า "ดิฉันได้เข้าร่วมโปรแกรมตั้งแต่ตอนแรกจึงเห็นความแตกต่างระหว่างลูกของเรา กับเด็กคนอื่นที่กินนมผสม ที่เห็นได้ชัดคือ ลูกไม่เคยเจ็บป่วยหรือเป้นไข้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งตอนนี้ลูกมีอายุ 1 ขวบแล้วคะ ในฐานะที่เป็นแม่ก็รู้สึกปลื้มและประทับใจมากคะ และด้วยหน้าที่เป็นเภสัขกรพอเราเห็นลูกคนอื่นมารับยา เราจะรู้สึกแย่มาก ถ้ามีโอกาสก็อยากให้คนอื่น หันมาให้นมลูกกันดีกว่าสงสารเด็กคะ ที่สำคัญประหยัดค่าใช้จ่ายค่านมผงไปได้เดือนละหลายพันเลยนะคะ"
สถาบันฯ เผยแพร่เรื่องนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าถ้าหน่วยงานให้การสนับสนุน “แม่” จะสามารถให้นมแม่แก่ลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
1. ผลการศึกษาสำนักวิจัยเอแบคโพล์ พ.ศ. 2547 เรื่อง “ความคิดเห็นและพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” จากกลุ่มตัวอย่างของแม่ที่มีลูกอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ในเขต กรุงเทพฯและปริมณฑล รวม 1,061 ตัวอย่าง
2. การศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างการลาคลอดกับระยะเวลาให้บุตรกินนมแม่. วิทยานิพนธ์ในการศึกษาและ ฝึกอบรมตามหลักสูตรเพื่อวุฒิบัตรแพทย์ประจำบ้าน ของ พญ.วิลาสินี ชาตะเมธีกุล สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พ.ศ. 2548
บริษัท เพนเน็ตเทรท จำกัด ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ โทร 02-511-2046—7
คุณกรัณฑฤทธิ 089-777-1735, คุณจรรยา 081-995-9945