กรุงเทพฯ--25 เม.ย.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย บริษัท แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้ม "Positive" หรือ "บวก" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ "BBB" โดยแนวโน้มเครดิตสะท้อนถึงสถานะทุนของธนาคารที่แข็งแกร่งขึ้น รวมถึงโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต และแนวโน้มของสถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้นจากการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC Bank) จากประเทศไต้หวัน ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรสะท้อนถึงอนาคตที่ดีขึ้นในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งของธนาคาร อย่างไรก็ตาม ทั้งอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ก็มีข้อจำกัดจากการที่ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากที่ค่อนข้างเล็ก ตลอดจนลักษณะของผลประกอบการที่ขาดแหล่งรายได้สำคัญที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย การกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้าเงินกู้รายใหญ่ และโครงสร้างเงินทุนที่อ่อนแอแม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นก็ตาม
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
เป็นธุรกิจธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กที่เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อันดับเครดิตของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ สะท้อนถึงสถานะในการเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2560 มูลค่าสินทรัพย์รวมของธนาคารอยู่ที่ระดับ 230,396 ล้านบาท ซึ่งทำให้ธนาคารอยู่ในลำดับที่ 11 ของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีหุ้นซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งในส่วนของสินเชื่อและเงินฝากอยู่ที่ระดับ 1.3% และ 1.2% ในปี 2560 ตามลำดับ
ทริสเรทติ้งคาดว่าการถือหุ้นของ CTBC Bank จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางธุรกิจของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้ ซึ่งประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากการมีพันธมิตรมีอยู่หลายประการ ได้แก่ ฐานลูกค้าที่กว้างขวางขึ้นจากกลุ่มธุรกิจที่เป็นของชาวไต้หวันในประเทศไทย หรือการมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น เช่น บริการธุรกรรมระหว่างประเทศและบริการด้านธุรกรรมธนาคาร รวมถึงช่องทางให้บริการใหม่ ๆ เช่น การทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่จะเกิดจากการมีพันธมิตรดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา
โครงสร้างคณะกรรมการและผู้บริหารที่แข็งแกร่งขึ้น
การเข้ามาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์หลักของ CTBC Bank ส่งผลให้ธนาคารมีโครงสร้างคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารที่แข็งแกร่งขึ้น โดยโครงสร้างปัจจุบันประกอบด้วยคณะกรรมการบริษัท 9 ตำแหน่ง โดยเป็นผู้แทนจาก CTBC Bank จำนวน 3 ตำแหน่ง และต่อไปจำนวนสมาชิกจะเพิ่มเป็น 11 ตำแหน่งหลังจากการเพิ่มจำนวนสมาชิกอีก 2 ตำแหน่งจาก CTBC Bank
โครงสร้างองค์กรของธนาคารก็ได้รับการเสริมความแข็งแกร่งโดยคณะผู้บริหารจาก CTBC Bank ซึ่งจะเข้ามาดูแลฝ่ายธุรกิจที่ตั้งขึ้นใหม่อันประกอบไปด้วย ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเชิงกลยุทธ์(Strategic Business Development Unit) ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น บริการธุรกรรมระหว่างประเทศและบริการด้านธุรกรรมธนาคาร ส่วนธุรกิจอีกด้านหนึ่งคือฝ่ายพัฒนาธุรกิจไต้หวันและการวางแผนบริหารจัดการทรัพย์สิน (Taiwan Business Development and Wealth Management Business Planning)
สถานะทุนที่แข็งแกร่ง
CTBC Bank ได้ทำการเพิ่มทุนจำนวน 16,599 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 หลังจากที่เข้ามาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์หลักซึ่งได้เสริมความแข็งแกร่งให้แก่ฐานทุนเดิมของธนาคาร อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของและอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 18.67% ณ สิ้นปี 2560 จาก 10.28% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะมีพันธมิตร อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของซึ่งมีสัดส่วน 86% ของเงินกองทุนรวมนั้นสะท้อนถึงคุณภาพของฐานทุนที่อยู่ในระดับสูง CTBC Bank ให้ความสำคัญกับฐานทุนที่แข็งแกร่งและมุ่งเน้นการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่อัตราส่วนเงินปันผลของธนาคารยังคงไม่เปลี่ยนแปลงโดยอยู่ที่ระดับ 40% ของกำไรสุทธิ
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารจะไม่คงอัตราส่วนการดำรงเงินกองทุนที่ระดับสูงเช่นนี้ในอนาคต ทั้งนี้ อัตราส่วนการดำรงเงินกองทุนของธนาคารคาดว่าจะค่อย ๆ ลดลงจากการขยายสินเชื่อ การดำเนินการตามแผนธุรกิจใหม่ร่วมกับ CTBC Bank นั้นระบุให้อัตราการเติบโตของสินทรัพย์อยู่ที่ระดับ 8%-10% ต่อปีในระหว่างปี 2561-2563
คุณภาพสินทรัพย์แข็งแกร่งแม้จะมีลูกค้าที่กระจุกตัวสูง
ธนาคารมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่มากกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดกลางและขนาดเล็กอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่สุดจำนวนไม่มากมีส่วนแบ่งของสินเชื่อและแหล่งเงินฝากรวมของธนาคารในสัดส่วนที่สูงซึ่งสะท้อนถึงธุรกิจของธนาคารที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารมีสัดส่วนอยู่ในระดับสูงที่ 65% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2560 โดยธนาคารยังขาดฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยที่กว้างขวางและยังไม่มีแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย
กระนั้นธนาคารก็ยังมีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง โดยสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารอยู่ที่ระดับ 1.88% ณ สิ้นปี 2560 เทียบกับระดับ 2.04% ณ เดือน มิถุนายน 2560 ธนาคารนิยมที่จะปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูงและสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีความเสี่ยงต่ำ อีกทั้งยังคงมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ชาวไทยที่มีคุณภาพสูงและแสวงหากลุ่มธุรกิจที่เป็นของชาวไต้หวันในประเทศไทยด้วย
การตั้งสำรองที่แข็งแกร่งและการสูญเสียทางเครดิตที่คงที่
ธนาคารมีอัตราการสูญเสียทางเครดิตที่ดีกว่าอุตสาหกรรมโดยธนาคารมีต้นทุนทางเครดิตอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากมีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ต้นทุนทางเครดิตโดยเฉลี่ยของธนาคารอยู่ที่ระดับ 0.6% ระหว่างปี 2556-2560 (0.4% เฉพาะปี 2560) ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ 1.3% ปริมาณสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 104% ณ สิ้นปี 2560 เพิ่มขึ้นจากระดับ 80%-90% ในปี 2557-2558 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนลดลงมาจาก 112% ในปี 2559 ธนาคารมีการขายหนี้เสียจำนวน 515 ล้านบาทในปี 2560 (เทียบกับ 1,053 ล้านบาทในปี 2559) และตัดหนี้สูญที่ 74.7 ล้านบาทจากการประเมินในปี 2560 (เทียบกับ 14.6 ล้านบาทในปี 2559)
สถานะเงินทุนที่ดีขึ้น
แหล่งเงินทุนของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ นั้นอ่อนแอกว่าแหล่งเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แต่ก็มีพัฒนาการที่เห็นได้ชัดในช่วงปี 2560 จากการที่ฐานเงินฝากขยายตัว เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กแล้ว ฐานเงินฝากของธนาคารมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นจากการมีฐานเงินฝากซึ่งรวมตั๋วแลกเงินที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 ทั้งนี้ เงินฝากซึ่งรวมตั๋วแลกเงินของธนาคาร ณ สิ้นปี 2560 มีสัดส่วน 90% ของเงินทุน เพิ่มขึ้นจาก 82% ในปี 2556 โดยเงินฝากมีสัดส่วน 88% ของหนี้สินรวมเมื่อเทียบกับระดับ 60%-70% ของธนาคารขนาดเล็กอื่น ๆ ที่จัดอันดับโดยทริสเรทติ้ง
เงินทุนจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account-Savings Account – CASA) ของธนาคารก็ดีขึ้นเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 53% ของเงินฝาก ณ สิ้นปี 2560 จากช่วงระดับประมาณ 40% ระหว่างปี 2557-2559 การเพิ่มสูงขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากผลิตภัณฑ์เงินฝาก "Biz Saving" สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากก็เพิ่มขึ้นถึง 107% ณ สิ้นปี 2560 จากระดับที่ประมาณ 90% ในอดีต ซึ่งการเพิ่มขึ้นอย่างมากของสินเชื่อเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น ทว่ามูลค่าสินเชื่อของธนาคารก็ยังคงสูงกว่าของผู้ประกอบการรายอื่นซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 100% ณ สิ้นปี 2560 ในขณะที่สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากซึ่งรวมตั๋วแลกเงินอยู่ที่ระดับ 89% ในปี 2560 โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 86% ในปีก่อนหน้า
สภาพคล่องที่เพียงพอ
สภาพคล่องของธนาคารอยู่ในระดับที่เพียงพอโดยธนาคารมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 39%
ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งเทียบเคียงได้กับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ ในขณะที่สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสำหรับใช้รองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) นั้นก็อยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่ทางการกำหนด แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กกว่าซึ่งอยู่ที่ระดับ 120% และที่ระดับ 176% ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบโดยอ้างอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III
อันดับเครดิต "BBB" สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (LHBANK255A) สะท้อนความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. โดยตราสารประเภทนี้มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ย และไม่สามารถแปลงสภาพได้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารคืนทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดได้หากวันไถ่ถอนมีระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. ผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิที่ด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคาร ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวจะถูกตัดเป็นหนี้สูญได้ในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลเห็นว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Positive" หรือ "บวก" ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่า ภายใต้การสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากพันธมิตรเชิงกลยุทธ์คือ CTBC Bank นั้น ธนาคารจะสามารถขยายฐานลูกค้าและเพิ่มสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ และ/หรือลดการกระจุกตัวของสินเชื่อและฐานเงินฝากลงได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตของธนาคารอาจปรับเพิ่มขึ้นได้โดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จของธนาคารในการขยายธุรกิจซึ่งประกอบด้วย ฐานลูกค้า สินเชื่อ และเงินฝาก โดยสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิต่อรายได้รวมจะมีค่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งนี้ โดยไม่กระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์หรือสถานะเงินทุนและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) (LH BANK)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
LHBANK255A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive