กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดย อรุณี ตันติมังกร และ ศุภกร เอกชัยไพบูลย์
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
กระบวนการผลิต ส่งมอบ บริโภค และกำจัดของเสียของภาคธุรกิจล้วนส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดและประเภทของอุตสาหกรรมซึ่งไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่หรือเล็กก็สามารถแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ง่ายๆ โดยเริ่มต้นจากการจัดซื้อจัดจ้าง (procurement)
"การจัดซื้อจัดจ้าง" เป็นกลยุทธ์สำคัญของธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินค้า บริการ และช่วยบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันองค์กรชั้นนำของโลกใช้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเครื่องมือแสดงความรับผิดชอบต่อผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน เช่น คู่ค้า ลูกค้า รวมถึงช่วยลดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เหล่านี้เรียกว่า การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน (Sustainable Procurement)
การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน คือ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่พิจารณาปัจจัยด้านราคา การส่งมอบ และคุณสมบัติที่ครอบคลุมประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
การจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเนื่องจากปฏิบัติได้ง่าย เพียงแค่เพิ่มปัจจัยและเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในกระบวนการพิจารณาจัดซื้อจัดจ้าง โดยผลงานวิจัยระดับโลกพบว่าการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนช่วยลดต้นทุน (cost saving) ลดความเสี่ยง (risk reduction) เพิ่มมูลค่าตราสินค้า(brand value) เช่น งานวิจัยเรื่อง Beyond Supply Chains - Empowering Responsible Value Chains โดย World Economic Forum (ปี 2015) ระบุว่าองค์กรที่คำนึงถึงความรับผิดชอบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Responsible Supply Chain) มีรายได้เพิ่มขึ้น 5-20% ต้นทุนลดลง 5-15% มูลค่าของตราสินค้าเพิ่มขึ้น 10-25% และช่วยลดความเสี่ยงจากการที่คู่ค้าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงได้
งานวิจัยเรื่อง Value of Sustainable Procurement Practices โดย INSEAD, EcoVadis และ PWC (ปี 2010) พบว่าบริษัทสามารถลดต้นทุนลง 0.05% และมีรายได้เพิ่มขึ้น 0.5% จากการพิจารณาความเสี่ยงในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ดูแลผู้บริโภค ใช้แรงงานเด็ก และการทำลายสิ่งแวดล้อม สำหรับบริษัทที่ไม่ได้คำนึงถึง ประเด็นดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 0.7% และส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) ลดลงถึง 12%
สำหรับในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเอง ได้สนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืนให้มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลายในห่วงโซ่อุปทาน โดยจัดทำและเผยแพร่คู่มือจรรยาบรรณธุรกิจสำหรับคู่ค้า (SET's Supplier Code of Conduct) ให้คู่ค้าของตลาดหลักทรัพย์ฯ รับทราบตั้งแต่ปี 2558 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและคำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยมีคู่ค้าที่ร่วมลงนามรับทราบเจตนารมณ์ดังกล่าวแล้ว 80%และตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงเดินหน้าส่งเสริมให้ครอบคลุมคู่ค้าทุกราย นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแนวปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Procurement) เพื่อสื่อสารให้พนักงานและคู่ค้าเกิดการมีส่วนร่วมในการให้ความสำคัญกับมิติสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทาน อีกทั้งมุ่งมั่นที่จะขยายผลไปสู่บริษัทจดทะเบียนให้นำเรื่อง Green Procurement ไปปฏิบัติอย่างแพร่หลายด้วย