การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัย ทั่วประเทศ ครึ่งปีแรก ปี 2550

ข่าวทั่วไป Wednesday September 26, 2007 09:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยจำนวนการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูง ทั่วประเทศ ครึ่งปีแรก ปี 2550 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 พบว่า พื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยรวมกันทั้งแนวราบและแนวสูงทั่วประเทศลดลงถึงร้อยละ 20 โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 จังหวัดลดลงถึงร้อยละ 32
นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของที่อยู่อาศัยแนวราบทั่วประเทศ แต่สำหรับที่อยู่อาศัยที่เป็นอาคารสูงนั้น กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกลับมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 76 หรือประมาณ 3 ใน 4 ของทั้งประเทศ
ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ครึ่งปีแรกปีนี้ การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยแนวราบ ทั่วประเทศ มีจำนวน 108,980 หน่วย คิดเป็นพื้นที่ 16.2 ล้านตารางเมตร เปรียบเทียบกับครึ่งแรกปี 2549 ทั่วประเทศมี 110,637 หน่วย คิดเป็นพื้นที่ 18.4 ล้านตารางเมตร จำนวนหน่วยลดลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 1 แต่พื้นที่ลดลงร้อยละ 12 พื้นที่ต่อหน่วยในการขออนุญาตก่อสร้างลดลงจาก 166 ตารางเมตรเหลือ 149 ตารางเมตร
ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครึ่งปีแรกปีนี้ การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยแนวราบ มีจำนวน 32,931 หน่วย คิดเป็นพื้นที่ 6.0 ล้านตารางเมตร เปรียบเทียบกับครึ่งแรกปี 2549 มี 33,461 หน่วย คิดเป็นพื้นที่ 7.2 ล้านตารางเมตร จำนวนหน่วยลดลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 2 แต่พื้นที่ลดลงร้อยละ 16 พื้นที่ต่อหน่วยในการขออนุญาตก่อสร้างลดลงจาก 215 ตารางเมตรเหลือ 182 ตารางเมตร ขนาดพื้นที่ก่อสร้างต่อหน่วยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลใหญ่กว่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่มีขนาดพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบ 149 ตารางเมตรต่อหน่วย
สำหรับที่อยู่อาศัยแนวสูง นั้น ครึ่งปีแรกปี 2550 การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยอาคารสูง ทั่วประเทศ มีจำนวน 2,639 อาคาร คิดเป็นพื้นที่ 5.3 ล้านตารางเมตร เปรียบเทียบกับครึ่งแรกปี 2549 ทั่วประเทศมี 2,218 อาคาร คิดเป็นพื้นที่ 8.7 ล้านตารางเมตร จำนวนอาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 แต่พื้นที่กลับลดลงมากถึงร้อยละ 39 ขนาดอาคารทั่วประเทศลดลงจากเฉลี่ยประมาณ 3,900 ตารางเมตรต่ออาคาร เหลือเฉลี่ยประมาณ 2,000 ตารางเมตรต่ออาคาร
ใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยอาคารสูงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครึ่งแรก ปี 2550 มี1,692 อาคาร พื้นที่รวม 4.0 ล้านตารางเมตร เทียบกับครึ่งแรก ปี 2549 มี 1,638 อาคาร พื้นที่รวม 7.6 ล้านตารางเมตร จำนวนอาคารเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3 และพื้นที่ลดลงมากถึงร้อยละ 47 ขนาดอาคารในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลลดลงจากเฉลี่ยประมาณ 4,650 ตารางเมตรต่ออาคาร เหลือเฉลี่ยประมาณ 2,400 ตารางเมตรต่ออาคาร
นายสัมมา ให้ความเห็นว่า ที่อยู่อาศัยแนวราบมีทั้งที่สร้างโดยผู้ประกอบการและเจ้าของสร้างเอง แต่ที่อยู่อาศัยที่เป็นอาคารสูงนั้นเป็นการสร้างโดยผู้ประกอบการเกือบทั้งหมด มีทั้งที่อยู่อาศัยที่สร้างเพื่อการขายและเพื่อการเช่า คือมีทั้งคอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ และหอพัก จากตัวเลขครึ่งปีแรกปีนี้ แม้จำนวนอาคารสูงจะยังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นแต่ขนาดของอาคารโดยส่วนใหญ่ลดลง ทำให้พื้นที่ขอใบอนุญาตลดลงมากจากที่เคยขึ้นสูงสุดเมื่อปี 2549 ทั้งปีมีพื้นที่ขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงมากเป็นประวัติการณ์ถึง 11.8 ล้านตารางเมตรทั่วประเทศ และในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากถึง 9.6 ล้านตารางเมตร ทั้งนี้อาจมีเหตุผลเนื่องจากการเริ่มบังคับใช้ผังเมือง กทม. ใหม่เมื่อกลางปีที่แล้วทำให้มีการเร่งขอใบอนุญาตอาคารสูงกันมากในช่วงครึ่งปีแรกปี 2549
สำหรับจังหวัดในส่วนภูมิภาคที่มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยแนวราบ คิดเป็นจำนวนหน่วยมากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา ชลบุรี และระยอง ส่วนจังหวัดในส่วนภูมิภาคที่มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัยอาคารสูง คิดเป็นจำนวนอาคารมากที่สุด ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ