กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--สถาบันอาหาร
สถาบันอาหาร อรุณอมรินทร์ 36//สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดกิจกรรม NFI OPEN HOUSE 2018 เปิดบ้านให้ผู้ประกอบการได้เยี่ยมชมและใช้บริการ ได้ฤกษ์อวดโฉม"ศูนย์วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตสินค้าอาหารเชิงพาณิชย์" ชูความพร้อมงานบริการและให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรมอาหารแบบครบวงจร ทั้งผลักดันการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้รับรู้ในวงกว้าง เผยไตรมาสแรกปี 2561 การส่งออกอาหารของไทยมีมูลค่า 247,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.5 คาดการณ์ภาพรวมทั้งปีจะมีมูลค่าส่งออก 1.12 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่าสถาบันอาหารได้จัดกิจกรรม "NFI OPEN HOUSE 2018" ขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 27 เม.ย. 2561 รวม 3 วัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ สถาบันอาหาร ซ.อรุณอมรินทร์ 36 (เชิงสะพานพระราม 8) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้อง นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป เข้าเยี่ยมชมงานบริการด้านต่างๆ ของสถาบันอาหาร พร้อมรับฟังการบรรยาย และการสัมมนาในหัวข้อที่เป็นประโยชน์ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานรวม 3 วันไม่น้อยกว่า 700 คน
งาน NFI OPEN HOUSE 2018 เป็นการจัดกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกอาคารโดยรอบสถาบันอาหาร ได้แก่ บริเวณลานกิจกรรมหน้าอาคาร A และอาคารศูนย์การเรียนรู้อาหารไทย( Thai Food Heritage) เพื่อเผยแพร่บทบาท ภารกิจของสถาบันอาหาร ทั้งการบริการปกติ และการดำเนินโครงการที่สำคัญภายใต้นโยบายครัวไทยสู่โลกให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง นอกจากนี้ก็เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งนับวันจะมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการส่งออกอาหารของไทยเป็นอย่างมาก
"สำหรับไฮไลท์ในปีนี้ คือการเปิดให้ชมความพร้อมของสถาบันอาหารในการให้บริการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอย่างครบวงจร โดย "ศูนย์วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตสินค้าอาหารเชิงพาณิชย์ (Commercial Food Development Center)" ที่สถาบันอาหารจัดตั้งขึ้น พรั่งพร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ และเครื่องจักรที่ทันสมัย ควบคุมโดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านครอบคลุมทุกกระบวนการผลิต เพื่อการเชื่อมโยงและพัฒนาต่อยอดงานวิจัยหรือวัตถุดิบของไทยให้สามารถผลิตเป็นสินค้าอาหารที่สอดคล้องต่อความต้องการของตลาดโลก และผลักดันให้สามารถผลิตขายได้ในเชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อขอใช้บริการและขอรับคำปรึกษาได้ โดยสามารถรองรับการให้บริการในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าวและธัญพืช เช่น ซีเรียล เบเกอร์รี่ สแน็ค สินค้าอาหารแช่เยือกแข็ง/แช่เย็น สินค้าอาหารอบแห้ง เครื่องดื่มพาสเจอร์ไรซ์ ซอส ซุป น้ำสลัดพาสเจอร์ไรซ์ ผลิตภัณฑ์จากนม ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ปลา และสัตว์ปีก เช่น ไส้กรอก เป็นต้น"
อนึ่ง สำหรับภาพรวมการส่งออกอาหารไทยในช่วงไตรมาสแรก(ม.ค.- มี.ค.)ปี 2561 มีมูลค่าส่งออก 247,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าส่งออกในรูปเงินบาทชะลอลงเล็กน้อยอันเนื่องมาจากการแข็งค่าของเงินบาท แต่หากคิดในรูปดอลลาร์พบว่ามีมูลค่าส่งออก 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 โดยสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรกในช่วงไตรมาสแรกนี้ ได้แก่ ข้าว 44,098 ล้านบาท(+9.53%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 29,022 ล้านบาท (+14.05%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 28,168 ล้านบาท (-4.88%) ไก่(แปรรูป/ไก่สดแช่เย็น/ แช่แข็ง) 23,473 ล้านบาท(+24.06%) และน้ำตาลทราย 18,728 ล้านบาท(-10.17%)
และในปี 2561 คาดว่าอุตสาหกรรมอาหารจะมีมูลค่าส่งออก 1.12 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ส่งออกได้ 1.015 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจน หน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจร่วมมือกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโตอย่างต่อเนื่องในหลากหลายมิติ อาทิ การมุ่งเน้นการขยายตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในอาเซียน จีน แอฟริกา และตะวันออกกลาง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในกลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน อาหารสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ (Functional food) หรือในกลุ่มอาหารที่คาดว่าจะเป็นอนาคต (Future food) การยกระดับมาตรฐานการผลิตให้สินค้ามีคุณภาพและความปลอดภัย (Food safety) มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทำให้สามารถขยายธุรกิจไปสู่ตลาดส่งออกได้ การนำนวัตกรรม (Innovation) มาปรับใช้มากขึ้น ส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High-Value Added) ออกสู่ตลาดมากขึ้น และการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะให้กับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามอาจต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงในเรื่องการแข็งค่าเงินบาท ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ในรูปเงินบาทลดลง และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออก ทั้งราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนสินค้า แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม และต้นทุนแรงงานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น