กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--คอร์ แอนด์ พีค
โดย คุณทวีศักดิ์ แสงทอง ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ หรือ เอชดีเอส
ภาวะโลกร้อน การอนุรักษ์พลังงาน และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม กำลังกลายเป็นประเด็นสำคัญยิ่งต่อมนุษย์ทั่วโลก การเรียกร้องเพื่อโลกสีเขียวไม่ได้เกิดเฉพาะที่ตัวบุคคลและองค์กรเท่านั้น แต่ยังได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล เอ็นจีโอ ผู้คนในวงสังคม และส่วนบุคคลด้วย นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจก็กำลังหันมาให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยประเด็นดังกล่าวกลายเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญต่อภาพลักษณ์ขององค์กรในเรื่องความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมโดยรวม รวมทั้งครอบคลุมในเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย
แนวคิดสีเขียวของบริษัท ต่อคำถามที่ว่า ซีไอโอ หรือผู้จัดการฝ่ายไอที มีแผนเพิ่มเติมอะไรบ้าง และพวกเขามีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือ ใช่อย่างแน่นอน
ตัวอย่างเช่น บริษัท ฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ช คาดว่าการใช้ไฟของศูนย์ข้อมูลที่มีเซิร์ฟเวอร์จำนวน 2,500 เครื่องในระยะเวลาหนึ่งเดือนนั้น เทียบเท่ากับการใช้ไฟของครัวเรือน 420,000 หลังต่อปี นั่นหมายความว่าพลังงานจำนวนมหาศาลของโลกอยู่ในมือของหัวหน้าฝ่ายไอที ดังนั้น บุคคลเหล่านี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยลดการใช้พลังงานของโลกได้
สตอเรจเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งซีไอโอและผู้จัดการฝ่ายไอทีสามารถช่วยในการประหยัดพลังงานได้ บริษัท ไอดีซี คาดว่า ในปริมาณการใช้ไฟของศูนย์ข้อมูลทั้งหมดนั้น สัดส่วน 37% เป็นของสตอเรจ ในขณะที่ปริมาณข้อมูลสำคัญกำลังเพิ่มสูงขึ้นในอัตราการเติบโตโดยรวมต่อปีที่ 52% สิ่งนี้ไม่ใช่ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความกังวลด้านค่าใช้จ่ายพอๆ กับการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น องค์กรขนาดใหญ่ในบางประเทศต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายของพลังงานที่เพิ่มขึ้น และสภาวะที่ระบบหยุดทำงานเนื่องจากวิกฤตการณ์ด้านไฟฟ้า ดังนั้น การเติบโตของข้อมูลและการใช้พลังงาน จึงเป็นสิ่งท้าทายต่อฝ่ายไอทีอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาไม่กี่ปีต่อจากนี้
แต่ดูเหมือนว่าความเป็นจริงจะไม่เอื้อต่อแนวคิดสีเขียวมากนัก เนื่องจากศูนย์ข้อมูลสีเขียวมีราคาสูงมาก ทั้งในเรื่องทรัพยากร เวลา และความพยายามที่จะสร้างให้เกิดขึ้น เนื่องจากตั้งอยู่บนฐานของแนวคิด “ตัดทิ้งและเปลี่ยนใหม่” (Rip and Replace) นั่นคือต้องทำการปรับปรุงศูนย์ข้อมูลใหม่หมดตั้งแต่เริ่มต้น อย่างไรก็ตาม มีไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่ตระหนักว่าวิธีที่ง่ายที่สุดในการที่จะทำให้สตอเรจเป็นสีเขียว ก็คือการใช้ประโยชน์สตอเรจเพิ่มขึ้น
จริงๆ แล้ว พลังงานที่ระบบสตอเรจใช้ไปนั้นเกี่ยวข้องกับจำนวนไดรฟ์ ไม่ใช่ปริมาณข้อมูลที่เก็บอยู่ นั่นหมายความว่าสตอเรจจะมีประสิทธิภาพด้านพลังงานเพิ่มขึ้นเมื่อมีความจุเพิ่มขึ้น ปัจจุบันเครื่องเมนเฟรมใช้ประโยชน์ได้ที่ระดับ 80% หรือ 85% ขณะที่อุปกรณ์สตอเรจส่วนใหญ่ทำได้เพียง 40% หรือ 45% การใช้ประโยชน์อุปกรณ์เพิ่มขึ้น ไม่ได้ประหยัดก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกิดการประหยัดพื้นที่ทางกายภาพ (การจัดวาง) ด้วย นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีเสมือนจริงเข้ามาใช้ยังช่วยปรับปรุงให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้นผ่านทางสตอเรจแบบชั้น และกรอบการจัดการทั่วไป
การลดความจุในการสำรองข้อมูล เป็นอีกวิธีที่จะลดจำนวนไดรฟ์ของศูนย์ข้อมูล โดย Virtual Tape Library (VTL) เป็นเทคโนโลยีน้องใหม่ที่สามารถจำลองการทำงานของเทปในการสำรองข้อมูลโดยใช้ดิสก์แทนได้ โซลูชั่น VTL บางรายการมีใช้งานแล้วในตลาดพร้อมกับคุณสมบัติการลดความจุในการสำรองข้อมูล ซึ่งทำให้จำนวนสตอเรจที่จะใช้งานมีจำนวนน้อยลงอย่างมาก และการสำรองข้อมูลลงในดิสก์ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าเทปข้อมูล โดยสามารถบีบอัดข้อมูลจาก 25 ให้เหลือ 1 ด้วยการกำจัดข้อมูลที่ซ้ำซ้อน และลดจำนวนสตอเรจลงได้สูงถึง 25 เท่า หรือกว่านั้น ส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงาน และค่าใช้จ่ายด้านระบบปรับอากาศด้วย
บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ทราบว่าการใช้ประโยชน์ของระบบสตอเรจ สามารถเป็นได้ทั้งสาเหตุและช่วยในการแก้ไขปัญหาพลังงานในศูนย์ข้อมูล ดังนั้น บริษัทจึงกำลังพยายามสร้างความจุในไดรฟ์เดียวให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสตอเรจหนึ่งตู้สามารถมีความจุได้สูงถึง 50 เทราไบต์ เท่ากับว่าลูกค้าสามารถประหยัดพื้นที่การจัดวางสตอเรจและได้ความจุเพิ่มขึ้น ในขณะที่ใช้พลังงานหรือค่าใช้จ่ายด้านระบบปรับอากาศเท่าเดิม นอกจากนี้ ตัวเลือก “ลดพลังงาน” สำหรับดิสก์สตอเรจที่ใช้สำหรับระบบเก็บข้อมูลระยะยาวก็กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาของบริษัทเช่นกัน
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเริ่มเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น จึงไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าการที่องค์กรจะเป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกค้าในการคิดและทำเพื่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อสนับสนุนแนวทางดังกล่าว บริษัท ฮิตาชิ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ได้เปิดตัวแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนไซต์งาน 30 แห่งจาก 300 แห่ง ให้เป็น “โรงงานสุดยอดประหยัด” (Super Eco-Factories) ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 โดยแนวคิดนี้ จะทำให้ไซต์ผลิตของบริษัทเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุด รวมทั้งใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยน้ำเสีย ปล่อยสารเคมี และลดการใช้ผลิตภัณฑ์สิ้นเปลืองอื่นๆ
ปริมาณข้อมูลที่เพิ่มจำนวนขึ้น และการจัดการสตอเรจที่ไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน ดังนั้น การใช้ประโยชน์สตอเรจให้เพิ่มขึ้น จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างศูนย์ข้อมูลให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และแน่นอนว่าเทคโนโลยีสารสนเทศสีเขียวจะเป็นก้าวต่อไปในการสร้างความแตกต่างครั้งสำคัญที่มีต่อโลกได้