กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
"เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวอย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี"
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2561 "เศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวอย่างทั่วถึงในทุกภูมิภาค นำโดย ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี" โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
ภาคกลาง เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 22.2 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เป็นสำคัญ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 9.9 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 31.5 และ 0.2 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 32.0 และ 4.2 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 4.7 และ 12.1 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.2 และ 24.1 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้เงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อยู่ที่ 6,200 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 115.9 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวร้อยละ 10.5 และ 13.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี จากการเพิ่มขึ้นของข้าวเปลือก ข้าวโพด และปศุสัตว์ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2561 อยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งและจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 23.4 และ 3.1 ต่อปี ตามลำดับ ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 23.2 และ 1.7 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทรา และชลบุรี สอดคล้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 12.9 ต่อปี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ 6,411 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 65.6 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดระยอง และปราจีนบุรี เป็นสำคัญ ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 59.0 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.5 และ 23.9 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหมวดผลไม้ และยางพารา เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2561 ปรับตัวลดลงมาที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ใน เดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 8.8 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และสงขลา เป็นต้น ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 9.9 ต่อปี สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 21.1 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 26.1 ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.4 และ 34.6 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และระนอง สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวร้อยละ 9.0 และ 20.1 ต่อปี ตามลำดับ ตามการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต พังงา และตรัง เป็นสำคัญ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม ปี 2561 (เบื้องต้น) อยู่ในระดับเอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจส่งสัญญาณขยายตัว โดยมีการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงภาคเกษตรเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน จากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 23.3 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 22.9 ต่อปี จากการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น และมุกดาหาร เป็นต้น สอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี ตามการขยายตัวในจังหวัดเศรษฐกิจหลัก อาทิ ขอนแก่น มุกดาหาร และอุบลราชธานี เป็นต้น เช่นเดียวกันกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการ อยู่ที่ 1,789 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 36.2 ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดขอนแก่น และนครราชสีมา เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากการเยี่ยมเยือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.8 และ 11.8 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการผลิตภาคเกษตรที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี จากการขยายตัวในผลผลิตอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง และข้าวโพด เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2561 ปรับตัวลดลงมาที่ร้อยละ -0.6 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคเหนือ เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 1.7 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดเชียงใหม่ และตาก เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ขยายตัวร้อยละ 20.9 ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และนครสวรรค์ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่และเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 8.6 และร้อยละ 145.4 ต่อปี ตามลำดับ ตามการลงทุนในจังหวัดเพชรบูรณ์และอุตรดิตถ์ เป็นต้น สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือน กุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 5.3 และ 9.2 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2561 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
ภาคตะวันตก เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมีนาคม 2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.4 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.1 ต่อปี ตามการขยายตัวในจังหวัดกาญจนบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 18.4 ต่อปี ตามการขยายตัวในทุกจังหวัด เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 16.1 ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีเงินทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อยู่ที่ 1,796 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 28.2 ต่อปี สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดีทั้งจำนวนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 8.4 และ 13.0 ต่อปี ตามลำดับ ตามการท่องเที่ยวในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น สำหรับด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2561 ที่ยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภคที่ร้อยละ 1.1 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค
กทม.และปริมณฑล เศรษฐกิจขยายตัว โดยมีการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี ตามการขยายตัวในทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดนนทบุรี และปทุมธานี เป็นต้น สอดคล้องกับการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ปานกลางและสูง สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 14.8 ต่อปี ตามการขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และนนทบุรี เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี สอดคล้องกับเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 อยู่ที่ 6,645 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสมุทรสาคร และสมุทรปราการ เป็นสำคัญ สำหรับด้านอุปทาน ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัวร้อยละ 16.8 และ 32.1 ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวได้ดีทั้งจากผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม (เบื้องต้น) 2561 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี และอัตราการว่างงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค