กรม ปภ . เตือนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคั้นกั้นน้ำระวังน้ำทะเลหนุนสูงช่วง 27-30 ต.ค.

ข่าวทั่วไป Monday October 29, 2007 15:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย11 จังหวัด คาดว่าหากไม่มีฝนตกในพื้นที่ดังกล่าวสถานการณ์อุทกภัยจะคลี่คลายในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อาจส่งผลกระทบ ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำและนอกแนวคั้นกั้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 27 -30 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธรและอุบลราชธานี ราษฎรเดือดร้อน1,749,546 คน 455,391 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วม 1,435,652 ไร่ ถนน 3,886 สาย เสียหายใช้การไม่ได้ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 430,684,229 บาท เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักยังคงมีระดับสูงอยู่ ทำให้เอ่อล้นเข้าท่วม พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่การเกษตร โดยเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้เร่งให้การช่วยเหลือ นำข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่มสะอาด สิ่งของทั้งอุปโภคและบริโภค รวมทั้งเครื่องใช้ที่จำเป็น แจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนนำเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ รถบรรทุก เรือท้องแบน เข้าช่วยเหลือและอพยพประชาชน ฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ ซึ่งคาดว่าหากไม่มีฝนตกในพื้นที่ดังกล่าว สถานการณ์อุทกภัยจะคลี่คลายในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้
ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์และชัยนาท มีปริมาณน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 2,935 ลบ.ม./วินาที ส่งผลกระทบให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำของกรุงเทพมหานครเกิดสภาวะน้ำท่วมขัง เนื่องจากน้ำล้นตลิ่งเหมือนดังเช่นทุกปี โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 27- 30 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง กรมชลประทาน ได้ควบคุมน้ำหลาก โดยเพิ่มการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ในทุ่งเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง จึงขอเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมและนอกแนวคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เตรียมขนย้ายสิ่งของ ทรัพย์สิน และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาจจะเสียหาย ไว้บนที่สูง รวมทั้ง ย้ายปลั๊กและปิดสวิตซ์ไฟฟ้า คัตเอาท์ เพื่อป้องกันไฟฟ้าซ็อต รวมทั้งให้เสริมแนวกระสอบทรายที่เป็นแนวคันกั้นน้ำให้สูงอีกประมาณ 20 ซม. ตลอดจนตรวจสอบความแข็งแรงของแนวคั้นกั้นน้ำอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งติดตามสถานการณ์การไหลของน้ำจากกรมชลประทานและการขึ้น — ลงของน้ำจากกรมอุทกศาสตร์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ตลอดเวลา สุดท้ายนี้ หากประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานและให้การช่วยเหลือ โดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ