กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ไทยออยล์
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 30 เมษายน 2561
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 65 -70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 72 -77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (30 เม.ย. – 4 พ.ค. 61 )
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาการปรับลดดังกล่าวแตะระดับสูงสุดเป็นประวัตการณ์อีกครั้งในรอบ 5 เดือน นำโดยการปรับลดกำลังการผลิตจากประเทศเวเนซุเอลาที่เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจและการปกครองจากรัฐบาลของ Maduro ที่บริหารการเงินของประเทศอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลให้นักลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาเริ่มทยอยลดการลงทุนลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันดิบอาจตึงตัวมากกว่านี้ หลังสหรัฐฯ จะต้องตัดสินใจพิจารณามาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่านในเดือนหน้า อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาแตะระดับ 10.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับจำนวนแท่นขุดเจาะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 5 สัปดาห์ และคาดจะแตะระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปลายปีนี้
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- สถานการณ์ความตึงเครียดในประเทศเวเนซุเอลาได้ปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อพนักงานของบริษัท Chevron ถูกดำเนินการจับกุมเป็นครั้งแรก หลังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา (PDVSA) ในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างได้ เนื่องจากข้อเสนอมีราคาที่ไม่สมเหตุสมผล ส่งผลให้บริษัท Chevron ได้อพยพผู้บริหารออกจากประเทศเวเนซุเอลาและคาดจะอพยพพนักงานออกไปเพิ่มเติม ซึ่งทำให้ตลาดกังวลว่าบริษัทฯ อาจจะจะมีการลดการผลิตลง โดยล่าสุดปริมาณการผลิตของประเทศเวเนซุเอลาชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องมาแตะระดับ 1.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลดลงจาก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในต้นปี 60
- จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านว่าจะสามารถเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันได้หรือไม่ หลังทรัมป์จะมีการพิจารณามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในวันที่ 12 พ.ค. โดยตลาดมีความกังวลว่าอิหร่านอาจถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรอีกครั้ง และอาจทำให้อุปทานน้ำมันดิบลดลงไปมากกว่าเดิม ทั้งนี้ในประชุมรัฐสภาในวันที่ 25 เม.ย. ฝรั่งเศสกล่าวว่าจะต้องมีมาตรการที่เหมาะสมก่อนที่จะมีการล้มเลิกข้อตกลงที่มีอยู่ ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่การพิจารณามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจะถูกเลื่อนไปไกลกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ทางสหรัฐฯ ไม่ได้ให้การโต้ตอบใดๆ ทั้งสิ้น จึงทำให้วันตัดสินใจของสหรัฐฯ ยังคงเดิม ณ จุดนี้
- ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยระดับความร่วมมือของกลุ่มโอเปกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 165 นำโดยการลดลงของซาอุดิอาระเบียและเวเนซุเอลาที่ปริมาณการผลิตลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 12 ล้านบาร์เรลเหนือระดับค่าเฉลี่ย 5 ปีซึ่งเป็นเป้าหมายของกลุ่มโอเปก ในเดือน มี.ค. 61 ซึ่งนับเป็นการลดลงอย่างมากจากเดือน ม.ค. 60 ที่ราว 340 ล้านบาร์เรลเหนือค่าเฉลี่ย 5 ปี ทั้งนี้กลุ่มโอเปกจะมีการทบทวนเป้าหมายอีกครั้งในเดือน มิ.ย. 61 นี้
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบเพิ่มปริมาณการขุดเจาะขึ้นมาสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 22 นับจากกลางปี 59 มาแตะระดับ 10.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยการเพิ่มขึ้นของการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) และสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดจะแตะระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตและบริการของจีน ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ (Market PMI) การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ และ GDP ไตรมาส 1/61 ของยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (23 – 27 เม.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 0.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ว่าจะปรับลดลง 2.0 ล้านบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลง รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตของสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก โดยในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 เม.ย. 61 ทางสหรัฐฯ ได้เพิ่มแท่นขุดเจาะกว่า 5 แท่น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังสหรัฐฯ มีท่าทีอาจถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านและสถานการณ์ในเวเนซุเอลาที่เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทน้ำมันแห่งชาติและบริษัทเอกชน ส่งผลให้มีการจับกุมผู้บริหารและสั่งอพยพแรงงานออกจากประเทศ