กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI ) ประจำเดือนมีนาคม ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.62 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 เป็นผลมาจากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กำลังซื้อในประเทศก็มีทิศทางที่ดีเช่นเดียวกัน ส่งผล ทำให้ไตรมาสที่ 1/61 MPI ขยายตัวร้อยละ 3.93 (ไตรมาสที่ 1/60 ขยายตัวร้อยละ 0.11 ) อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 76.06 สูงสุดในรอบ 60 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2556
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม แถลงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) ประจำเดือนมีนาคม 2561 มีการขยายตัวร้อยละ 2.62 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกประจำเดือนมีนาคม 2561 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำตาลทราย น้ำมันปิโตรเลียม เม็ดพลาสติกและน้ำมันพืช อุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือนมีนาคม 2561 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากเครื่องยนต์ และรถปิคอัพเป็นหลัก ตามการเติบโตของกำลังซื้อภายในประเทศที่ดีขึ้น และการกระตุ้นตลาดด้วยการเปิดตัวรถยนต์ รุ่นใหม่ๆ และการส่งออกไป ออสเตรเลีย อาเซียน (ยกเว้นเวียดนาม) ยังเติบโตได้ดี น้ำตาลทราย ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.59 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกและสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต ทำให้วัตถุดิบคืออ้อยเข้าสู่โรงงานจำนวนมาก น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 และ 95 น้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันเครื่องบินเป็นหลัก จากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศและปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง
เม็ดพลาสติก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.67 จาก พอลิโพไพลีน เรซิน (PP) พีวีซี เรซิน (PVC) และ โพลีเอธิลีน (PE ) เป็นหลัก เนื่องจากในปีก่อนผู้ผลิตบางรายมีการปิดซ่อมบำรุงเครื่องจักร สำหรับ LLDPE (พลาสติกโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ) เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตบางรายการมีการขยายกำลังการผลิตในเดือนนี้
น้ำมันพืช ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำมันปาล์มดิบ เป็นหลัก เนื่องจากช่วงต้นปี 2560 พื้นที่เพาะปลูกในหลายจังหวัดทางภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วม ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลปาล์มได้ ประกอบกับปีนี้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น รวมทั้งสภาพอากาศเอื้ออำนวย ส่งผลให้มีผลผลิตปาล์มเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ภาวะอุตสาหกรรมสำคัญที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.33 เนื่องจากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลัก ได้แก่ Semiconductor, Monolithic IC, PCBA และ HDD ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก โดย IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากใช้เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone, Tablet ส่วน HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage อุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.2 การบริโภคในประเทศขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการส่งออกสินค้าอาหารขยายตัวจากการฟื้นตัวที่เข้มแข็งและต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น จีน รวมถึง กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งช่วยหนุนความต้องการสินค้าไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิต