กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--ธพว.
SME Development Bank เชื่อมาตรการส่งเสริมรอบทิศ หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงความช่วยเหลือได้ตรงจุด หลังผลสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs ประจำไตรมาส 1/2561 ชี้ชัดปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความสามารถในการแข่งขันและการเข้าถึงสินเชื่อ สร้างภูมิคุ้มกันธุรกิจแข็งแกร่ง
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) กล่าวเสริมถึงผลสำรวจ 3 ดัชนี (1) ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอี (2)ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี และ (3) ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อแสดงถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีทุกหัวข้อ สำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประจำไตรมาสที่ 1/2561 จาก 1,253 ตัวอย่างจากทั่วประเทศ แบ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก 73.9% และธุรกิจขนาดกลาง 26.1% ใน 3 กลุ่มธุรกิจ คือ การค้า 495 ราย (39.6%) การบริการประมาณ 440 ราย (35.1%) และการผลิตประมาณ 318 ราย (25.4%)
ทั้งนี้ ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจไตรมาสที่ 1/2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 จุด โดยขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.8 จากไตรมาสที่ผ่านมา (4/2560) และจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทำให้ตัวเลขไตรมาสที่ 2/2561 คาดจะอยู่ที่ระดับ 43.7 และยังมีทิศทางปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3/2560 อีกด้วย ซึ่งหากประเมินจากลักษณะการเป็นลูกค้า การปรับตัวของเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าของ ธพว. เห็นชัดเจนว่า ดัชนีมีการปรับตัวดีขึ้นจากการสำรวจ โดยดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส ที่ 4/2560 จาก 44.5 ขึ้นมาอยู่ที่ 46.4 หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.9 ขณะที่หากเปรียบเทียบดัชนีสถานการณ์ธุรกิจในกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว. กลับปรับตัวลดลง 0.8 จากไตรมาส 4/2560 ที่ 40.2 ลงมาอยู่ที่ระดับ 39.4
ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจของเอสเอ็มอี ไตรมาสที่ 1/2561 อยู่ที่ระดับ 56.2 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.0 ดังนั้น เมื่อจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้าของ ธพว. จึงมีความสามารถในการทำธุรกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งทุนของภาคธุรกิจมีการปรับตัวดีขึ้นชัดเจน แสดงถึงโอกาสของการเข้าถึงแหล่งเงินหรือสินเชื่อในระบบ
ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจเอสเอ็มอี ไตรมาสที่ 1/2561 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.5 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.2 และคาดว่าในไตรมาสที่ 2/2561 ดัชนีความยั่งยืนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 52.5 ดังนั้น เมื่อจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้า ธพว. มีความยั่งยืนดีขึ้น โดยดัชนีความยั่งยืนอยู่ที่ระดับ 58.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 56.0
นอกจากนี้ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันฯ ไตรมาสที่ 1/ 2561 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 53.7 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และยังมีแนวทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องคาดว่าในไตรมาสที่ 2/2561 ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีทั้งที่เป็นลูกค้าธนาคารและทั่วไป จะปรับตัวอยู่ที่ระดับ 49.2 ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/2560 และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเป็นลำดับ
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจ ระบุว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ควรให้สำคัญในการทำธุรกิจ คือพิจารณาต้นทุนต่อหน่วยให้เหมาะสม และการจะทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ต้องมุ่งเน้นลงทุนด้านพัฒนาบุคลากร และระบบไอที