ปภ.แนะผู้ปฏิบัติงานร่วมกันป้องกันอันตรายจากสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม

ข่าวทั่วไป Tuesday October 2, 2007 09:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากสารเคมี ก่อนปฏิบัติงานต้องสวมชุดป้องกันที่โรงงานจัดเตรียมให้อย่างครบถ้วน หากสารเคมีเกิดการรั่วไหลควรออกจากบริเวณนั้นทันที พยายามอยู่เหนือลมหรืออยู่ในที่สูง ด้านเจ้าของโรงงานควรจัดอบรมให้ความรู้ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมีอย่างสม่ำเสมอ ออกกฎห้ามมีให้มีการประกอบอาหาร หรือสูบบุหรี่ในบริเวณโรงงาน หากเกิดเพลิงไหม้ให้ใช้ถังดับเพลิง เคมีดับเท่านั้น
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ผู้ที่ปฏิบัติงาน ในโรงงานอุตสาหกรรมมักปฏิบัติงานใกล้สารเคมีจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากสารเคมี เนื่องจากต้องสัมผัสและสูดดมสารเคมีโดยตรง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเคมี ดังนี้ ก่อนปฏิบัติงานต้องสวมชุดป้องกันที่โรงงานจัดเตรียมอย่างครบถ้วนทั้งเสื้อผ้า หมวกนิรภัย ที่คลุมผม แว่นตาครอบปิดตา อุปกรณ์ครอบหู ถุงมือและรองเท้าบูท ที่ทนต่อการกัดของสารเคมี กรณีที่สารเคมีเกิดการรั่วไหล ควรออกให้ห่างจากบริเวณนั้นทันทีและพยายามให้อากาศบริเวณที่มีการรั่วไหลระบายอย่างสะดวก และควรอยู่ เหนือลมหรืออยู่ในที่สูง แล้วรีบแจ้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบที่มีความชำนาญเพื่อกำจัดหรือทำความสะอาดบริเวณที่ เกิดการรั่วไหล หากมีผู้ได้รับสารเคมี ควรปฏิบัติดังนี้ ทางการหายใจ ให้นำผู้ป่วยออกมารับอากาศบริสุทธิ์ หากผู้ป่วยหยุดหายใจให้ใช้วิธีผายปอด ทางการกิน ห้ามดื่มกินอะไรตามเข้าไปนอกจากจะมีระบุไว้ในเอกสารความปลอดภัยของสารเคมีชนิดนั้นแล้วนำส่งโรงพยาบาลทันที ทางผิวหนัง ให้ล้างออกโดยการให้น้ำไหลผ่านประมาณ 20 นาที ห้ามทำให้เกิดบาดแผล หากยังมีอาการคันหรือผื่นขึ้นให้รีบพบแพทย์ ทางตา ควรล้างด้วยน้ำสะอาดไหลผ่าน หากยังมีอาการระคายเคืองควรรีบไปพบจักษุแพทย์ นอกจากนี้ยังพบว่า โรงงานที่ประกอบการเกี่ยวกับสารเคมีมีความเสี่ยง ที่จะเกิดเพลิงไหม้ เช่น โรงงานผลิตทินเนอร์ เฟอร์นิเจอร์ กาว และโรงงานที่มีการติดต่ออ็อกหรือเชื่อมเหล็ก ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางป้องกันอย่างเข้มงวด และออกกฏห้ามผู้ปฏิบัติงานประกอบอาหาร สูบบุหรี่ หรือจุดเทียนในบริเวณที่มีสารเคมีอย่างเด็ดขาด เก็บแยกสารเคมีให้ถูกต้องตามประเภทโดยเก็บไว้ในที่มิดชิด และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่ไม่ควรเก็บไว้ในที่ที่มีความร้อนสูง ตลอดจนติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงและหมั่นตรวจสอบสายไฟและหม้อแปลงอยู่เสมอ อีกทั้งควรจัดให้มีการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัยสารเคมีและอัคคีภัย ที่สำคัญหากเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่มีสาเหตุมาจากสารเคมี ให้ใช้ถังดับเพลิงเคมีดับเท่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ