กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--กระทรวงพลังงาน
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปริมาณความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยคิดเป็นมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท และไทยต้องนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมันคิดเป็นมูลค่า 900,000 ล้านบาท หรือ 1 % ของ GDP โดยรวมแล้วประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานเป็นจำนวนมากกว่า 60 % ของการใช้พลังงานในประเทศ
“จากการรณรงค์ส่งเสริมของกระทรวงพลังงานด้วยการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจในคุณภาพของน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ด้วยการสร้างจูงใจให้แก่ผู้ค้าและบริโภค โดยผ่านกลไกลของกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปส่งเสริมค่าการตลาดและการสร้างส่วนต่างให้มีราคาถูกว่าน้ำมันเบนซินถึง 3.70 บทต่อลิตร ส่งผลให้ยอดการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 สูง กว่า 67 % จากยอดการใช้ 3.1 ล้านลิตรต่อวัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมาเป็น 5.2 ล้านลิตรต่อวันในปัจจุบัน มีสถานีบริการให้บริการน้ำมันแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้น 3,577 แห่งทั่วประเทศ ทั้งนี้กระทรวงพลังงานตั้งเป้ายอดการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 8 ล้านลิตรต่อวันภายในสิ้นปีนี้” นายคุรุจิต กล่าว
ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานก็ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ไบโอดีเซล ด้วยการกำหนดให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันทุกแห่งปรับคุณภาพน้ำมันให้ผสมไบโอดีเซล ( B100) ในระดับที่ไม่เกิน 2 % หรือ B2 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2551 รวมทั้งส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล B5 ( ผสม B100 ในสัดส่วน 5%) โดยกระทรวงพลังงานประกาศปรับลดราคาขายปลีกไบโอดีเซล B5 ให้มีราคาถูกว่าน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 70 สตางค์ต่อลิตร และปัจจุบันได้มีการขยายสถานีให้บริการไบโอดีเซล B5 เพิ่มขึ้น 770 แห่ง โดยมียอดจำหน่ายเกือบ 2 ล้านลิตรต่อวัน
นายคุรุจิต กล่าวต่อว่า กระทรวงพลังงานก็ได้รณรงค์ให้ขนส่งมวลชนและรถบรรทุกขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องตลอดจนส่งเสริมรถแท็กซี่ให้หันมาใช้ NGV เพื่อลดการใช้ก๊าซ LPG ในรถยนต์ ปัจจุบันมีรถยนต์ติดตั้ง NGV กว่า 45,000 คัน และมีจำนวนสถานีให้บริการ NGV กว่า 180 แห่ง และภายในสิ้นปีจะมีสถานีให้บริการเพิ่มมากขึ้น 220 แห่ง รวมทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล และครอบคลุมพื้นที่ใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังได้ส่งเสริมการนำน้ำเสีย ขยะ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานชีวภาพ โดยกระทรวงพลังงานได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปแนะนำ และศึกษาความเป็นไปได้ตลอดจนการจัดสรรเงินเข้าไปอุดหนุนหรือเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีเป้าหมายในการผลิตก๊าซชีวภาพ 1,060 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อทดแทนการใช้พลังงาน เทียบเท่าน้ำมันดิบ ปีละ 397,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6,970 ล้านบาทต่อปี
นายคุรุจิต กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวงพลังงานได้สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ด้วยการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก ( VSPP ) โดยกระทรวงพลังงานได้เพิ่มราคารับซื้อ หรือ Adder สำหรับผู้ผลิตฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน จากเชื้อเพลิงชีวภาพ 0.30 บาทต่อหน่วย พลังงานน้ำจากเชื้อเพลิงขนาดเล็ก 0.40 -0.80 บาทต่อหน่วย ขยะและพลังงานลม 2.50 บาทต่อหน่วย และพลังงานแสงอาทิตย์ 8 บาท ต่อหน่วย รวมถึงโครงการนำเทคโนโลยีสะอาดมาช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน และแก้ไขปัญหาของเสียจากโรงงาน เพื่อนำพลังงานที่ได้จากของเสียเหล่านี้ มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า และก๊าซชีวภาพ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันมาศึกษาและเป็นโครงการนำร่อง