กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--หอการค้าไทย
ผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2561 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 40 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2561 ส่งผลให้กำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ในมุมมองของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำทำให้กำลังซื้อทั่วไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศขยายตัวในระดับต่ำ นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังกังวลต่อผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างรวดเร็ว และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไม่มากนัก อีกทั้งยังฟื้นตัวช้า และการฟื้นตัวยังกระจุกตัวไม่กระจายตัวทั่วทุกภูมิภาค
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 67.8 75.8 และ 99.1 ตามลำดับ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมีนาคม 2561 ที่อยู่ในระดับ 66.8 74.9 และ 98.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีทุกรายการดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ 80.9 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 40 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เป็นต้นมา การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวนสูง ราคาพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ยางพารา อ้อย ปาล์มน้ำมันและราคาสินค้าปศุสัตว์ ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ยังคงเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวม
สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น โดยอยู่ที่ระดับ 55.3 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 26 เดือนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นมา ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 90.8 เป็นระดับ ระดับ 91.9 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 61 เดือนนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ไม่มากนัก
การปรับตัวดีขี้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในเดือนนี้และอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบ 40 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เป็นต้นมา เป็นจุดที่ต้องสังเกตต่อไปว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไร ในอนาคตเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังคงมีอยู่มาก อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจอย่างต่อเนื่องทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้นภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ จะส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการบริโภคสินค้าและบริการมาขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเด่นชัดขึ้นในปลายไตรมาสที่ 2 และเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 4.2-4.6% ได้ในปี 2561