กรุงเทพฯ--2 พ.ค.--สำนักงาน กปร.
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์ทรงตระหนักเป็นอย่างดีว่าพื้นที่นับล้านไร่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศมีปัญหาอยู่หลายลักษณะ ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ราษฎรทำการเพาะปลูกได้ผลผลิตต่ำ จึงมีฐานะยากจน เช่น พื้นที่ดินพรุ พื้นที่ดินเปรี้ยวจัด พื้นที่ดินเค็ม พื้นที่ดินทราย ขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น โดยให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาเพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่ตัวอย่าง โดยเน้นการพัฒนาด้านการเกษตรที่สมบูรณ์แบบ ทั้งการแก้ไขปัญหาดิน ให้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น การจัดระบบการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์อย่างเหมาะสม การพัฒนาแหล่งน้ำ การฟื้นฟูสภาพป่าและการส่งเสริมศิลปาชีพและหัตถกรรมพื้นบ้าน เพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริม โดยได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 6 แห่ง กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส โดยวัตถุประสงค์ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นจะทำการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย เพื่อแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาทางด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ จึงเปรียบเสมือน "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต" ของความสำเร็จที่จะเป็นแนวทางและตัวอย่างให้แก่พื้นที่อื่น ๆ โดยรอบ โดยดำเนินการในลักษณะบูรณาการหลายหน่วยงาน เน้นการประสานงาน ประสานแผน และการจัดการระหว่างกรม กอง และส่วนราชการต่าง ๆ ให้เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (one stop service) และปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่ง มีผลสำเร็จที่เป็นต้นแบบอย่างเป็นรูปธรรม เกษตรกร และประชาชนที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริเป็นจำนวนมาก ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
การนี้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เปิดเผยภายหลังจากเป็นประธานการประชุมศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริสัญจร ณ ห้องประชุมศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี ว่า "การประชุมสัญจรของผู้บริหารศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง และศูนย์สาขาอีก 17 แห่ง ในครั้งนี้เป็นการประชุมที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 12 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เจ้าหน้าที่ และทีมงานของแต่ละศูนย์ฯ ได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงปัญหาอุปสรรค พร้อมถ่ายทอดวิทยาการความรู้ใหม่ๆที่แต่ละศูนย์ฯ ได้รับมาให้เป็นที่รับรู้กันอย่างทั่วถึง และครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่หัวหน้าศูนย์สาขาทั้ง 17 แห่ง จากทั่วประเทศมาร่วมประชุมด้วย โดยใช้พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ แห่งนี้ เป็นสถานที่ประชุม ซึ่งปกติจะประชุมในส่วนกลางที่สำนักงาน กปร. ครั้งนี้เป็นการออกมารับรู้ รับทราบ ถึงการดำเนินงานและแนวทางในการดำเนินงาน ตลอดถึงผลสำเร็จที่พึงได้รับในพื้นที่ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ เนื่องจากแต่ละศูนย์ศึกษาฯ ตลอดจนศูนย์สาขาต่างได้รับการจัดตั้งขึ้นมาตามสภาพภูมิประเทศและภูมิสังคมที่ต่างกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะได้รับรู้ว่าแต่ละศูนย์ฯ นั้นมีภารกิจที่เหมือนกันและไม่เหมือนกันอย่างไรบ้าง สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ เป็นศูนย์ฯ ที่เสมือนกับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ที่สามารถรองรับการเข้ามาทัศนศึกษาและดูงานของประชาชน เกษตรกร ตลอดถึงการรองรับคณะเยาวชนยุวเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปที่จะเข้ามาศึกษาดูงานว่าแนวพระราชดำริ หรือศาสตร์พระราชาในแต่ละแขนงที่แต่ละศูนย์ฯได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้ง เช่น สถานีทดลอง แปลงสาธิตการเกษตร รวมทั้งงานด้านปศุสัตว์ การประมง การป่าไม้ แนวพระราชดำริเหล่านั้นมีสาระสำคัญอะไรบ้างที่แต่ละกลุ่มแต่ละคณะ แต่ละองค์กรจะได้น้อมนำไปขยายผล หรือนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองต่อไป สำหรับศูนย์เรียนรู้เกษตรกรในแต่ละสาขาจะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ของตัวเองในการทำการเกษตรอย่างถูกวิธี และได้รับการยอมรับจากทั้งฝ่ายราชการและประชาชนโดยรอบ ซึ่งที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเดินทางเข้าศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันว่าทำไมเกษตรกรรายนี้จึงประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังแล้ว ที่สำคัญคือเกษตรกรเหล่านั้นได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้กับพื้นที่การเกษตรของตนเองในหลากหลายรูปแบบและหลายวิธีการจนประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน ซึ่งศูนย์เรียนรู้ จะเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยสนับสนุนผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงาน ทั้งด้านปัจจัยพื้นฐานในการผลิต ตลอดถึงร่วมเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้ที่เข้ามาศึกษาดูงาน"
"ก็เป็นคำที่มีความหมายสั้นๆ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานลงมาแก่คณะผู้ปฏิบัติงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คือ สืบสาน ศาสตร์พระราชาในรัชกาลที่ 9 รักษาศาสตร์เหล่านี้ไว้ รักษาปราชญ์ของแผ่นดินที่เป็นผู้ดูแลศูนย์ศึกษาต่าง ๆ และก็ต่อยอด ซึ่งก็คือทำการขยายผลให้ศาสตร์พระราชาในรัชกาลที่ 9 ไปสู่เกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไปให้มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการคุยกันในที่ประชุมครั้งนี้ว่า ทำอย่างไรที่จะขยายผลผลสำเร็จของศูนย์ศึกษาฯ และศูนย์สาขา ไปสู่ราษฎรได้อย่างเป็นรูปธรรมและทั่วถึงอย่างกว้างขวางอย่างต่อเนื่อง" นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี กล่าว
สำหรับการประชุมศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริสัญจร ครั้งที่ 12 ณ ห้องประชุมศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรีในครั้งนี้ เป็นการประชุมสัญจรของผู้บริหารศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง และศูนย์สาขาอีก 17 แห่ง โดยมีนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีเป็นประธานการประชุม และ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นรองประธานการประชุม โดยมีนายดนุชาสินธวานนท์ เลขาธิการ กปร. ผู้บริหารสำนักงาน กปร. ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง และศูนย์สาขาจากทั่วประเทศ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม หลังจากนั้นองคมนตรีพร้อมคณะได้เดินทางเยี่ยมชมกิจกรรมการดำเนินงานของหน่วยสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจกรรมการดำเนินงานต่าง ๆ อาทิ ธนาคารปูไข่โซล่า/ซั้งเชือกบ้านปลา การปลูกเมล่อนในโรงเรือน การสาธิตและส่งเสริมการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในบ่อกุ้ง การศึกษาดูงานป่าชายหาด เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ได้มีโอกาสเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินงาน ได้แนวคิดในการนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่การดำเนินงานของแต่ละศูนย์ศึกษาฯ และต่อยอดขยายผลการพัฒนาไปสู่ราษฎร เพื่อเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา
ต่อยอด การพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้อย่างกว้างขวางและเกิดความยั่งยืนต่อไป