กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานเลขานุการกรม
คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเห็นชอบร่างระเบียบของรัฐวิสาหกิจ
ที่เกี่ยวกับการพาณิชย์เพิ่มเติมอีก 7 แห่ง รวมทั้งสิ้น 32 แห่ง ซึ่งจะทำให้รัฐวิสาหกิจดำเนินงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างถูกต้อง มั่นใจ คล่องตัว พร้อมยืนยันกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการลงทุนภาครัฐ
นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้พิจารณาร่างกฎหรือระเบียบของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2561 อีกจำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย 1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 2. ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 3. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 4. การยางแห่งประเทศไทย 5. องค์การคลังสินค้า 6. องค์การตลาด และ 7. บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด โดยกรมบัญชีกลางจะแจ้งผลการพิจารณาดังกล่าวให้รัฐวิสาหกิจข้างต้น ดำเนินการให้ ผู้มีอำนาจพิจารณาออกกฎหรือระเบียบตามที่คณะกรรมการนโยบายฯ เห็นชอบเพื่อประกาศใช้บังคับต่อไป ทั้งนี้ มีรัฐวิสาหกิจ 1 แห่ง คือ บริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด ได้ขอยกเลิกการขอยกเว้นการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ทำให้มีรัฐวิสาหกิจที่ขอยกเว้นการดำเนินการเกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง จำนวนทั้งสิ้น 32 แห่ง ทั้งนี้คณะกรรมการฯเร่งพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหรือระเบียบของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์ในครั้งนี้ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างถูกต้อง มั่นใจ คล่องตัว ไร้อุปสรรคในการปฏิบัติงาน และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ความท้าทายของกรมบัญชีกลาง คือ ทำอย่างไรที่จะให้การจัดซื้อจัดจ้างโครงการภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เดินหน้าได้หลังจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ โดยได้ระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่ของกรมบัญชีกลาง ที่เกี่ยวข้องอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งจัดทีมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณอีก 62 ทีม เพื่อดูแลส่วนราชการ และจากการติดตามผลการก่อหนี้งบประมาณรายจ่ายลงทุนปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่ ต้นปีงบประมาณ ถึงวันที่ 20 เมษายน 2561 ก่อหนี้แล้ว 375,860 ล้านบาท พบว่าก่อหนี้ได้สูงกว่าปีงบประมาณ 2560 ในช่วงเวลาเดียวกัน (ก่อหนี้ได้ 344,948 ล้านบาท) เป็นจำนวนถึง 30,912 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่ากฎหมายจัดซื้อ จัดจ้างฉบับใหม่ไม่ได้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้หากได้รับทราบสิ่งที่ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างสะดุดคณะกรรมการจะเข้ามาช่วยผ่อนคลายให้การจัดซื้อจัดจ้างสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมบัญชีกลางยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานตามหลักการการจัดซื้อจัดจ้างในเรื่องความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้ และที่สำคัญคือจะต้องทำให้การปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐทุกแห่งมีความคล่องตัว ไร้ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อันจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่อไป