กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แผนที่แสดงระดับมลพิษทางอากาศในเมืองต่างๆ ทั่วโลกขององค์การอนามัยโลกที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อวานนี้ คือการออกมาเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่อันตรายอย่างจริงจัง แผนที่ชิ้นนี้จัดได้ว่าเป็นแผนที่แสดงระดับมลพิษทางอากาศที่ครอบคลุมมากที่สุดในปัจจุบัน
"ตัวเลขในแผนที่แสดงให้เห็นว่า การพึ่งพาพลังงานสกปรกในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของวงการสาธารณสุขทั่วโลก มีประชาชนถึง 9 ใน 10 อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มลพิษทางอากาศอยู่ในระดับไม่ปลอดภัย และมีคนหลายล้านคนต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรทุกปี" ลอรี มิลเวอร์ทา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกกล่าว
"ผลกระทบจากการใช้ถ่านหิน น้ำมัน และแก๊สในปี 2560 ไม่เพียงแต่จะเพิ่มการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้แก่โลกเท่านั้น แต่ยังปล่อยมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนออกมาด้วย ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา"
"เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ประชาชนจะมีอากาศที่ดีหายใจและปลอดภัยต่อชีวิต รัฐบาลจึงต้องมีมาตรการและแนวทางการแก้ปัญหาที่ตรงจุด รวมถึงต้องสร้างแผนปฏิบัติการในการบรรลุเป้าหมายคุณภาพอากาศอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนในอนาคต"
ข้อสำคัญในรายงาน:
- 15 เมืองจาก 20 เมืองที่มีระดับมลพิษทางอากาศสูงสุดในโลกอยู่ที่อินเดีย ขณะที่ 16 เมืองมลพิษทางอากาศสูงสุดในกลุ่มสหภาพยุโรป อยู่ที่โปแลนด์ อินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากมลพิษทางอากาศมากที่สุด กำลังจัดทำแผนการแก้ปัญหาระดับชาติ แต่อย่างไรก็ตาม แผนนี้ก็ยังต้องการเป้าหมายที่ชัดเจนและแน่นอน
- รายงานเปิดเผยว่าในบรรดาเมืองที่มีข้อมูลมลพิษ มีจำนวนเมืองกว่าร้อยละ 70 ที่มีค่าฝุ่นละอองมลพิษทางอากาศ (PM2.5) สูงกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด โดยมีร้อยละ 80 ของเมืองในสหภาพยุโรป รวมถึงร้อยละ 96 ของเมืองในประเทศกำลังพัฒนากำลังประสบปัญหามลพิษทางอากาศ
- ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกเปิดเผยความก้าวหน้าของจีน ซึ่งมีการลงทุนด้านพลังงานสะอาด มีแผนปฏิบัติการต่อกรกับมลพิษทางอากาศภายในประเทศ และจำกัดปริมาณการปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศอย่างเข้มงวด ทำให้ค่าเฉลี่ยระดับมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในปี 2559 ลดลงถึงร้อยละ 30 จากปี 2556 อย่างไรก็ตาม ระดับค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเมืองอื่นๆ ยังคงสูงเกินห้าเท่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด สิ่งเหล่านี้ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการใหม่ๆ ที่มีเป้าหมายท้าทายออกมาแก้ไขปัญหา
- การรายงานคุณภาพอากาศ (Air quality monitoring) จำเป็นต้องมีการกระจายไปยังประเทศต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศในแถบแอฟริกาใต้เขตตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา (Sub-Saharan Africa) เนื่องจากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกามีการรายงานคุณภาพอากาศเพียง 92 เมืองเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าประเทศออสเตรียทั้งประเทศเสียอีก