กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงปฏิบัติการออกแบบกิจกรรมเรียนรู้ 'Authentic Learning' ในวันที่ 26 – วันอาทิตย์ที่ 29 เม.ย. พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมเจด โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม โดยมีครูระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนต่างๆทั่วจังหวัดปทุมธานีเข้าร่วม โดยเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยงเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 4
โครงการนี้ ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว ซึ่งในปีที่ผ่านมานั้น ได้รับผลตอบรับอย่างน่าพอใจ ผู้เข้าร่วมสะท้อนการเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียนของตนเองในหลายด้าน ทั้งด้านการคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน ด้านเครื่องมือเทคนิคการสอนที่มีมากขึ้น ตลอดจนความกล้าที่จะลองจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ๆ ซึ่งความสำเร็จของโครงการในปีแรกนำไปสู่การดำเนินโครงการเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยง ฯ ในปีที่ 2 ซึ่งปีนี้ คณาจารย์จากคณะวิทยาการเรียนรู้ ฯ มธ. จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานกับครูในชั้นเรียนจริงมากขึ้น ทั้งเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพการทำงานจริงของครู ไปพร้อมๆกับร่วมกันสร้างกระบวนการเรียนรู้หรือนวัตกรรมการสอนที่สอดคล้องกับชั้นเรียนของครูแต่ละคนมากที่สุด ตลอดจนอาจพัฒนาไปสู่การวิจัยในชั้นเรียนต่อไปด้วย โดยมีพื้นฐานอยู่บนความเป็นกัลยาณมิตรร่วมกัน
ผศ. ดร. สิทธิชัย วิชัยดิษฐ หัวหน้าโครงการฯ ได้อธิบายเกี่ยวกับโครงการเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยงฯ ปีที่ 2 นี้ว่า ปีนี้ทางโครงการก็ยังทำงานร่วมครูกลุ่มเดิมเป็นหลัก แต่เป็นไปในรูปแบบที่ลึกขึ้น โดยเน้นการออกแบบการสอนที่มีความหมายและสร้างแรงบันดาลใจให้ทั้งครูและนักเรียน โดยทางโครงการใช้คำว่า "Authentic Learning" เพื่อสื่อสารรูปแบบการเรียนรู้ดังกล่าว โดยพาครูไปสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ที่แท้จริง ทดลองลงพื้นที่ศึกษาแหล่งเรียนรู้เพื่อนำประสบการณ์มาเชื่อมโยงเข้ากับเนื้อหาสาระที่จะสอน ออกแบบการการสอนภายใต้เงื่อนไขและบริบทของโรงเรียนตนเอง และนำบทเรียนนั้นมานำเสนอและวิพากษ์ ตลอดจนเรียนรู้การเก็บหลักฐานการเรียนรู้ในรูปแบบวิจัยในชั้นเรียนเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอน โดยเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ได้ระดมทั้งความรู้ ความคิด และความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ในคณะวิทยาการเรียนรู้ มากลั่นเป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ครูทุกท่านได้พัฒนาตนเองอย่างเข้มข้น
"จุดประสงค์ของโครงการ ฯ ไม่ใช่การยัดเยียดเทคนิค ความรู้ ให้ครูเพียงฝ่ายเดียว แต่ทั้งอาจารย์จากคณะฯ ในฐานะพี่เลี้ยงและครูที่เข้าร่วมโครงการต้องเข้าใจบริบทแท้จริงของแต่ละห้องเรียนร่วมกันเพื่อหาจุดแข็งและเติมเต็มส่วนที่ยังขาด การทำงานและเรียนรู้ร่วมกันของทั้งอาจารย์คณะฯและครูจึงอยู่บนฐานของบริบทจริงมากที่สุด เน้นการสร้างเครือข่ายเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการต่อยอดและพัฒนาการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆ ต่อไปในอนาคต" โดย ผศ. ดร. สิทธิชัย วิชัยดิษฐ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับเป้าหมายของโครงการฯ ปีที่ 2 ว่า ไม่ใช่เพียงแค่ครูมีเทคนิคการสอนที่น่าสนใจขึ้น แต่ยังส่งผลต่อกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนและความสัมพันธ์ในชั้นเรียนที่ดีขึ้นอีกด้วย "ครูเองก็จะเริ่มมองเห็นแล้วว่ามีทางเลือกหลากหลายที่ทำให้การเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและสอดคล้องกับผู้เรียนสามารถเกิดขึ้นได้จริงในชั้นเรียน ทำให้ชั้นเรียนของตนมีความหมายมากขึ้น ครูก็มีความสุขในการสอนไปพร้อมๆกับที่นักเรียนมีความสุขในการเรียนกับครู"
ทางด้านเสียงสะท้อนจากครูผู้เข้าร่วมเวทีฯ ในครั้งนี้ ครูอร หรือ ว่าที่ร้อยตรีหญิง "ศิยากัญฐพร ผ่องใสธิยกุล" จากโรงเรียนปทุมวิไล หนึ่งในคุณครูที่เข้าร่วมโครงการพี่เลี้ยงอุดมศึกษาเป็นครั้งแรก กล่าวว่า ปกติแล้วครูที่โรงเรียนก็จะต้องเข้าร่วมอบรมในโครงการต่างๆมากมายอยู่แล้ว แต่การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้กลับรู้สึกต่างออกไปจากที่เคยเข้าร่วมมา "นี่ไม่ใช่การอบรมที่ต้องมานั่งฟังบรรยายหลักการวิธีการยาวๆ พร้อมคู่มือเล่มหนา แต่เน้นให้เราได้ลงมือคิดและปฏิบัติจริง สอนให้เราเรียนรู้ที่จะเข้าใจความรู้สึกของเด็กนักเรียน ไม่ยึดความคิดของเราเป็นใหญ่ในชั้นเรียน แต่รู้จักเชื่อมโยงสิ่งที่เด็กควรรู้และสิ่งที่เด็กอยากรู้เข้าด้วยกัน และเวิร์กช็อปนี้ยังทำให้เราได้เห็นว่าจริงๆ แล้วการสอนที่ดีไม่ได้มีรูปแบบที่ตายตัว แต่มีทางเลือกที่หลากหลายให้ประยุกต์ใช้เพื่อทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ดีได้ ซึ่งการได้เรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ช่วยเติมเต็มความมั่นใจให้กับเราในฐานะครูได้จริงๆ"
ครู "ภิญโญ ขียา" จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต เป็นตัวแทนครูอีกท่านหนึ่งที่มาเข้าร่วมโครงการเครือข่ายพี่เลี้ยงอุดมศึกษาฯ มาสองปีติดกันแล้ว ได้เสริมว่า ส่วนตัวเชื่อว่าหลายคนเมื่อก้าวเข้าสู่อาชีพครูย่อมมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองสอนได้ดีแล้ว แต่โครงการนี้ทำให้รู้ว่า เราไม่สามารถบอกได้จากความรู้สึกของครูฝ่ายเดียวว่าสอนดีหรือไม่ดี แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่าการสอนนั้นมีกระบวนการที่ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้มากน้อยแค่ไหน
"ผมรู้สึกว่าตัวเล็กลงมากเมื่อได้รู้ว่ายังมีรูปแบบการเรียนการสอนอีกมากมายนอกเหนือจากในกรอบที่เคยเรียนมา และเราต้องรู้จักนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทชั้นเรียนของเรา โครงการนี้เปิดโลกความเป็นครูของผมให้กว้างขึ้น การเรียนการสอนมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเรานำเทคนิคใหม่ๆ จากเวิร์กช็อปกลับไปทดลองใช้ในชั้นเรียน ก็มักจะมีคำถามและความท้าทายใหม่เกิดขึ้นเสมอ มันทำให้เราสนุกที่อยากจะมาเรียนรู้และฝึกฝนเพิ่มเติม เพื่อที่จะข้ามผ่านแต่ละข้อจำกัดในชั้นเรียนของเราไปให้ได้ โดยที่มีเป้าหมายอยู่ที่การเรียนรู้ของผู้เรียน"
โครงการเครือข่ายอุดมศึกษาพี่เลี้ยงเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 4 จะดำเนินการต่อเนื่องไปตลอดปีนี้ โดยเน้นการสร้างเครือข่ายระหว่างอาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กับครูผู้เข้าร่วมโครงการ ผ่านการร่วมมือกันในการพัฒนาการเรียนการสอนในห้องเรียนตามบริบทจริงของแต่ละโรงเรียน รวมไปถึงการช่วยให้คำแนะนำเพื่อการต่อยอดเป็นการวิจัยในชั้นเรียน เพื่อให้ครูในโครงการสามารถเก็บหลักฐานการเรียนรู้ของผู้เรียนและนวัตกรรมที่ตนเองสรรค์สร้าง ได้อย่างเป็นระบบและมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น