กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--หอการค้าไทย
หอการค้าไทย ร่วมกับ เอสซีจี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่าย เห็นถึงความสำคัญของมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มาจากภาคการท่องเที่ยว และเล็งเห็นปัญหาห้องน้ำตามแหล่งท่องเที่ยว จึงจัดทำโครงการ "ห้องสุขสโมสร" สำหรับแหล่งท่องเที่ยวสาธารณะขึ้น เพื่อให้สถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละชุมชนมีห้องน้ำสาธารณะที่ได้มาตรฐาน สามารถรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย ก่อสร้างและดูแลได้โดยคนในชุมชน และยังสามารถต่อยอดพื้นที่รอบข้างให้เป็นร้านค้าของผู้ประกอบการท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชนอีกด้วย
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในวาระที่หอการค้าไทยครบรอบ 85 ปี ในปีนี้ นับเป็นโอกาสอันดีในการมุ่งมั่นดำเนินโครงการเพื่อสังคมด้วยการจัดทำโครงการ "ห้องสุขสโมสร" สำหรับแหล่งท่องเที่ยวสาธารณะขึ้น โดยร่วมมือกับ เอสซีจี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา "ห้องน้ำ" ในแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
โดย "ห้องสุขสโมสร" สำหรับแหล่งท่องเที่ยวสาธารณะ จะเป็นห้องน้ำที่ถูกออกแบบให้ได้มาตรฐาน แข็งแรง มีรูปแบบเป็นสากล ใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม สำหรับบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้สูงอายุ คนพิการ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Universal design) ดูแลรักษาง่าย ก่อสร้างได้เองโดยช่างในท้องถิ่น มีแผนการบริหารจัดการและคู่มือการทำความสะอาดที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน เน้นการประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากนั้น เรายังเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเริ่มตั้งแต่ การก่อสร้าง ไปจนถึงการบริหารจัดการ และการดูแลรักษา อีกทั้งการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบให้เป็นร้านค้าของผู้ประกอบการท้องถิ่น สามารถนำสินค้าและบริการของท้องถิ่นไปถึงมือผู้บริโภคได้โดยตรง เพื่อสร้างรายได้ให้คนในชุมชน เป็นการกระจายรายได้ที่ยั่งยืนและมั่นคงอีกด้วย
"หอการค้าไทย ได้ประสานความร่วมมือไปยังเครือข่ายหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสำรวจแหล่งท่องเที่ยวชุมชนในท้องถิ่นที่ต้องการห้องน้ำสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ ได้มาตรฐาน เพื่อจะได้จัดส่งแบบก่อสร้างห้องสุขสโมสร ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก เอสซีจีไปให้ดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างต่อไป โดยเบื้องต้นได้กำหนดไว้ 85 แห่ง เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการครบรอบ 85 ปีของหอการค้าไทยด้วย" นายกลินท์ กล่าว
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจี ได้มอบหมายให้หน่วยงาน SCG Eldercare Solution เป็นผู้ออกแบบ "ห้องสุขสโมสร" ในครั้งนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญของเอสซีจีได้ใช้แนวคิด "การแบ่งปันพื้นที่แห่งความสุขเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม" ซึ่งมีจุดเด่น 5 ด้าน ได้แก่ 1) เอื้อต่อการใช้งานของทุกคนที่มีความแตกต่างด้านร่างกาย ทั้งบุคคลทั่วไป ผู้สูงอายุ ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียม ตามหลัก Universal Design โดยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุระหว่างใช้งาน ด้วยการคำนึงถึงระยะและการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐานในตำแหน่ง
ที่เหมาะสม เช่น ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการจะมีทางลาดสำหรับรถวีลแชร์ ไม่มีธรณีประตู และใช้ประตูแบบเลื่อนเปิด-ปิดเพื่อการเข้าออกที่สะดวก ขนาดของห้องน้ำมีขนาดกว้างพอสำหรับการกลับตัวของวีลแชร์ สุขภัณฑ์และอ่างล้างหน้ามีความสูงพอเหมาะ มีราวจับในตำแหน่งลุก-นั่งเพื่อช่วยพยุงตัว ก๊อกน้ำเป็นแบบก้านปัดเปิด-ปิดง่าย และพื้นห้องน้ำทำจากวัสดุที่ไม่ลื่น เป็นต้น 2) งานโครงสร้างเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ สอดคล้องกับสภาพชั้นดินในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย 3) แบบก่อสร้างง่าย
ช่างท้องถิ่นสามารถทำได้ หรือสามารถเลือกปรับ Lay Out ให้เหมาะสมกับพื้นที่จริงได้ด้วยตนเอง 4) สะท้อนเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น ผ่านรูปแบบ สีสัน วัสดุธรรมชาติรอบตัว ที่สามารถตกแต่งเพิ่มเติมให้อาคารสวยงาม กลมกลืน และเหมาะสมกับสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่ง และ 5) ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการออกแบบอาคาร ให้สูงโปร่ง เพื่อการระบายอากาศที่ดี และมีช่องแสงธรรมชาติ โดยแบบห้องน้ำดังกล่าวจะมี 4 ขนาด คือ ขนาด S พื้นที่ 16 ตารางเมตร ขนาด M พื้นที่
35 ตารางเมตร ขนาด L พื้นที่ 50 ตารางเมตร และขนาด XL พื้นที่ 105 ตารางเมตร เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ตามความต้องการของแต่ละพื้นที่
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า บทบาทหน้าที่หลักของการท่องเที่ยว
แห่งประเทศไทย คือการกระตุ้นให้เกิดความต้องการด้านการท่องเที่ยว (Demand side) ในขณะเดียวกัน ในด้าน Supply side
ก็ได้รับมอบหมายให้มีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาผู้ประกอบการและธุรกิจสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการท่องเที่ยวโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมสุขอนามัยในแหล่งท่องเที่ยว เช่น การปรับปรุงห้องน้ำสาธารณะ ระบบจัดการขยะและบำบัดน้ำเสีย และสุขอนามัยของสถานที่ท่องเที่ยว
ซึ่งห้องน้ำเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ของการส่งเสริมภาพลักษณ์และยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน ททท.ได้ให้ความร่วมมือด้านการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แบบห้องน้ำมาตรฐาน "ห้องสุขสโมสร" ให้มีการนำไปใช้ก่อสร้างในพื้นที่ชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว โดยผ่านช่องทางสำนักงานในประเทศและเครือข่ายที่มี อีกทั้ง ททท.จะช่วยส่งเสริมการหาแหล่งท่องเที่ยวที่เหมาะสมเพื่อผลักดันโครงการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมต่อไป
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว. กล่าวว่า ธนาคารพร้อมให้การสนับสนุนวงเงินสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวหรือธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ที่มีความต้องการปรับปรุง ซ่อมแซม เพื่อยกระดับห้องน้ำให้มีความสะอาดปลอดภัยในระดับสากล ตามแบบห้องน้ำมาตรฐาน "ห้องสุขสโมสร" อาทิ สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว วงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเพียง 3% คงที่ 3 ปีแรก ผ่อนนาน 7 ปี สามารถใช้ บสย.ค้ำประกันฟรี 4 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย
กู้1 ล้านบาท ผ่อนเพียงวันละ 460 บาทเท่านั้น และสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 วงเงิน 8,000 ล้านบาท จากกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับผู้กู้ที่ขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย 1% ผ่อนนาน 7 ปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ (แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม) ไม่ต้องใช้ บสย.
ค้ำประกัน โดยคาดว่าการบูรณาการความร่วมมือครั้งนี้จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นด้านสุขอนามัย กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว ตามนโยบายภาครัฐอย่างแน่นอน ซึ่งเบื้องต้นธนาคารจะดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการ "ห้องสุขสโมสร" ไปยังกลุ่มผู้ประกอบการผ่านสาขาทั่วประเทศต่อไป
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้ว่ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่การที่ตั้งอยู่ในเขตชุมชน จึงมีประชาชนจำนวนไม่น้อยเข้ามาใช้บริการห้องน้ำอยู่เสมอ มหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการสร้าง "ห้องสุขสโมสร" ซึ่งเป็นห้องน้ำต้นแบบตามแบบมาตรฐานจากเอสซีจีและได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนโครงการ
"ห้องสุขสโมสร" เพื่อให้ชุมชนได้มีโอกาสใช้ห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ เสริมสร้างสุขอนามัยที่ดี และยังเป็นการบริการชุมชนอีกทางหนึ่ง นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังได้รับโอกาสให้วางแผนการบริหารจัดการห้องสุขสโมสร ซึ่งแผนฯดังกล่าวจะเป็นแนวทางให้แก่ชุมชนที่นำแบบห้องสุขสโมสรไปใช้ เพื่อสร้างรายได้ในท้องถิ่น และดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน เพราะการที่ชุมชนท้องถิ่นนำแบบ
"ห้องสุขสโมสร" ไปสร้างและดำเนินการดูแลด้วยคนในท้องถิ่นเองนั้น จำเป็นต้องมีการสร้างรายได้ เพื่อให้โครงการ "ห้องสุขสโมสร"เลี้ยงตัวเองได้ในแต่ละท้องถิ่นอย่างยั่งยืนรวมทั้ง ได้จัดทำคู่มือการดูแลและทำความสะอาด "ห้องสุขสโมสร" สำหรับชุมชนด้วยเช่นกัน