กรุงเทพฯ--3 พ.ค.--สวทช.
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ (AYS) จัดกิจกรรมค่าย STEAM Summer Camp: นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย โดยมีน้องๆ นักเรียนชั้น ป.4 - ป.6 บริเวณใกล้เคียง เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 23 คน เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดเทอม และร่วมภารกิจเป็นเกษตรกรรุ่นจิ๋วกับเกษตรทฤษฎีใหม่ เรียนรู้วิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาไทย วาดฝันสู่นวัตกรรมการเกษตร ระหว่างวันที่ 1 - 3 พฤษภาคม 2561 ณ ศูนย์การเรียนรู้ตำบลกระแชง ศูนย์การเรียนรู้พอเพียงบ้านพ่อ จ.พระนครศรีอยุธยา และบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ สวทช. เล่าว่า ค่าย STEAM Summer Camp: นวัตกรรมเพื่อการเกษตรยั่งยืน ครั้งนี้ เป็นค่ายแบบไปเช้า-เย็นกลับ จำนวน 3 วัน เป็นค่ายที่เน้นให้น้องๆ ได้ปฏิบัติจริง ไปดูชีวิตจริงว่าคนที่อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่เขาทำนา เก็บไข่ไก่ เลี้ยงจิ้งหรีดว่าเป็นอย่างไร น้องๆ จะได้สัมผัสและลองใช้ชีวิตแบบเกษตรกร เรียนรู้และอยู่ร่วมกิจกรรมกับคุณลุงคุณป้าในชุมชน เป็นการเรียนรู้สภาพแวดล้อมใหม่ และได้คิดว่าจะสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้อย่างไร รวมถึงยังมีกิจกรรมสนุกๆ เกี่ยวกับวิถีชีวิตพอเพียง และกิจกรรมสิ่งประดิษฐ์และการทดลอง ที่จะสร้างประสบการณ์ให้น้องๆ ได้นำกลับไปอย่างเต็มที่ เป็นแนวทางส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านระบบ STEAM ที่ทำให้น้องๆ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ เห็นของจริง เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสามารถนำพาไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์และนักสร้างสรรค์นวัตกรรมในอนาคตได้
วันแรกของกิจกรรม น้องๆ ได้เดินทางไปยังศูนย์การเรียนรู้ตำบลกระแชง อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา กิจกรรมวันนี้น้องๆ ได้ทดลองเป็นเกษตรกรรุ่นจิ๋ว ตั้งแต่การเก็บเห็ด ตกปลา เก็บไข่ เรียนรู้การเลี้ยงจิ้งหรีด ด้วยคำแนะนำของผู้ใหญ่บ้านและรองนายก อบต.กระแซง โดยในการเก็บเห็ดนางฟ้าภูฐาน น้องๆ ต้องเด็ดเห็ดออก แล้วเศษที่ค้างอยู่ในก้อนเชื้อเห็ด ต้องใช้หางช้อนแคะออกมาให้หมดเพื่อไม่ให้ปากก้อนเชื้อเห็ดเน่าและเกิดเป็นเชื้อรา ซึ่งเห็ดนางฟ้าภูฐานสามารถเก็บได้ทุกวันและหัวเชื้อหนึ่งจะมีอายุราวถึง 7 เดือน ต่อด้วยกิจกรรมการห่อข้าวต้มมัด น้องๆ ได้ร่วมทดลองห่อข้าวต้มมัดด้วยตนเอง ตั้งแต่การจับจีบใบตองห่อให้สวยๆ การใช้ตอกหรือเชือกมัดข้าวต้ม พร้อมร่วมลุ้นกับผลงานของตัวเองหลังจากเข้าซึ้งนึ่งข้าวต้มมัดผ่านไปแล้ว 2 ชั่วโมง ได้ทานเป็นอาหารว่างยามบ่ายอย่างเอร็ดอร่อย
ภารกิจของน้องๆ กับการเป็นเกษตรกรรุ่นจิ๋วเรียนรู้วิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาไทยที่ศูนย์การเรียนรู้ตำบลกระแชง ยังดำเนินต่อไปด้วยพาหนะอย่างรถอีแต๋นที่นำน้องๆ ไปร่วมกิจกรรมจิ้งหรีดมีมากกว่าที่เห็น ทำให้น้องๆ ได้ทราบว่าไข่จิ้งหรีดที่นำมาเลี้ยงนั้น กว่าจะโตเป็นตัวจิ้งหรีดที่โตเต็มวัย ต้องใช้เวลาประมาณ 35 - 40 วัน ซึ่งสามารถนำไปขายเป็นอาหารและใช้เกี่ยวเป็นเหยื่อตกปลาได้ รวมถึงน้องๆ ยังได้ร่วมสัมผัสและชมการเผาถ่านในชุมชน ที่มีการใช้เศษไม้ทั่วไปในพื้นที่ ซึ่งถ่านที่ได้ร้านหมูกระทะบริเวณนี้รับซื้อโดยตรงเพราะมีคุณภาพสูง ติดไฟง่าย และชมการเก็บไข่ไก่ และยังร่วมกิจกรรมการตกปลาในบริเวณชุมชนด้วย ถือเป็นการได้สัมผัสวิถีชีวิตของเกษตรกรอย่างใกล้ชิด ซึ่งทุกๆ กิจกรรมที่ให้น้องๆ ได้ร่วมนั้นล้วนเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับครอบครัวและชาวบ้านในชุมชนนอกเหนือจากการทำนาเป็นหลัก
นอกจากนี้ กิจกรรมภายในค่าย น้องๆ ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้พอเพียงบ้านของพ่อ เพื่อทำกิจกรรมต้นไม้พืชผักสวนครัว กิจกรรมวิทยาศาสตร์กับอาหาร กิจกรรมภูมิปัญญาไทย ก่อนจะกลับมาปิดท้ายกันที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. กับการวาดฝันนวัตกรรมการเกษตรและร่วมละเล่นกิจกรรมของเล่นพื้นบ้าน นับเป็นการส่งเสริมให้น้องๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในช่วงปิดเทอม และเรียนรู้วิทยาศาสตร์กับภูมิปัญญาไทยไปพร้อมกัน