กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
สคร. โชว์ผลงาน 5 ปี สร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินให้แก่รัฐวิสาหกิจเป็น 6 ล้านล้านบาท พร้อมวางระเบียบที่สำคัญเพื่อวางรากฐานให้แก่รัฐวิสาหกิจ ชี้แผนงานในอนาคตเตรียมใช้กลยุทธ์การสร้างมูลค่าเพิ่มแบบก้าวกระโดด (Strategic Direction) ให้ความสำคัญทั้งในด้านกรรมการรัฐวิสาหกิจ องค์กรรัฐวิสาหกิจ และการพัฒนาองค์กร สคร.
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า วันที่ 3 ตุลาคม 2550 ซึ่งตรงกับวันสถาปนาหน่วยงานขึ้นเป็นสำนักงานระดับกรม และในปีนี้ถือว่าเป็นการทำงานครบรอบ 5 ปี การดำเนินงานที่ผ่านมาได้พยายามวางรากฐานการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้กับรัฐวิสาหกิจในสิ่งที่สำคัญ ประกอบด้วย ด้านการเงิน ด้านการบริหาร และด้านการวางระบบและระเบียบต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นเครื่องมือที่สำคัญของประเทศในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และดูแลผลประโยชน์ของชาติ ดังนี้
1. ด้านการเงิน ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สคร.สามารถพัฒนารายได้ ทรัพย์สิน และกำไรของรัฐวิสาหกิจให้สูงขึ้น หากเทียบกับปี 2545 รัฐวิสาหกิจมีรายได้ 1.4 ล้านล้านบาท ทรัพย์สิน 4.6 ล้านล้านบาท และกำไรสุทธิ 138,000 ล้านบาท ในปี 2549 สามารถพัฒนารายได้เพิ่มเป็น 2.6 ล้านล้านบาท ทรัพย์สิน 6 ล้านล้านบาท และกำไรสุทธิเพิ่มเป็น 227,000 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ในด้านของผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) เพิ่มขึ้นจากปี 2545 อยู่ที่ระดับ 2.20% เป็น 3.70% ในปี 2549
2. ด้านการบริหาร ภายหลังจาก สคร. ได้จัดทำคู่มือแนวทางการกำกับดูแลที่ดี คู่มือกรรมการตรวจสอบ และคู่มือตรวจสอบภายใน ซึ่งเป็นแนวทางให้กับรัฐวิสาหกิจในการปฏิบัติงาน ทำให้รัฐวิสาหกิจมีระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานการกำกับดูแลที่ดีเช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียน โดยจากการประเมินผลการบริหารจัดการองค์กรในภาพรวมของรัฐวิสาหกิจมีคะแนนประเมินผลฯ ที่สูงขึ้น จากปี 2547 อยู่ที่ระดับ 2.99 เพิ่มเป็น 3.13 ในปี 2549
นอกจากนี้ การประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ใน 3 ปีที่ผ่านมา ได้นำระบบการบริหารจัดการมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ (EVM) มาใช้กับรัฐวิสาหกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวัดผลการดำเนินงานที่แท้จริงของรัฐวิสาหกิจและเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจจำนวน 40 แห่ง สามารถคำนวณค่ากำไรในเชิงเศรษฐศาสตร์ (EP) ได้ด้วยตนเอง ช่วยให้การบริหารจัดการองค์กรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3. ด้านการวางระบบและระเบียบต่าง ๆ ประกอบด้วย การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาใช้ การติดตั้งระบบ GFMIS-SOE ให้กับรัฐวิสาหกิจ เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ ตัดสินใจ และวางแผนองค์กร รวมทั้งเป็นระบบที่ให้หน่วยงานรัฐที่ต้องการข้อมูลจากรัฐวิสาหกิจได้ใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลเดียวกัน และติดตามการดำเนินงานด้านการเงินของรัฐวิสาหกิจได้
การจัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้เงินอุดหนุนบริการสาธารณะ พ.ศ. .... หรือที่เรียกว่า Public Service Obligation (PSO) เพื่อให้เงินอุดหนุนแก่รัฐวิสาหกิจทั่วไปที่ให้บริการสาธารณะด้านสาธารณูปโภค เช่น ประปา ขนส่งมวลชน ตามนโยบายพิเศษของรัฐบาล และประสบปัญหาขาดทุนจากนโยบายการควบคุมราคาค่าบริการ และในอนาคตได้เตรียมจัดทำร่างระเบียบฯ ที่ให้เงินอุดหนุนแก่รัฐวิสาหกิจทางการเงิน (Public Service Account) เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และธุรกิจ SME’s เป็นต้น นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจเพื่อกำหนดขั้นตอนกระบวนการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยจัดทำ พ.ร.บ.ว่าด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติและคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในปี 2550 และการปรับปรุง พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อการจัดทำบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ (Direct Pool)
สำหรับอนาคตการดำเนินงานพัฒนารัฐวิสาหกิจและการปรับปรับปรุงการทำงาน สคร. ได้วางยุทธศาสตร์ในการพัฒนารัฐวิสาหกิจ และกลยุทธ์การสร้างมูลค่าเพิ่มแบบก้าวกระโดด หรือ Strategic Direction ซึ่งจะเน้นในเรื่อง กรรมการรัฐวิสาหกิจ องค์กรรัฐวิสาหกิจ และตัวองค์กร สคร. ดังนี้
ด้านกรรมการรัฐวิสาหกิจ การจัดทำบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจและถ่ายทอดนโยบายที่ชัดเจนต่อกรรมการอย่างใกล้ชิด และสร้างความต่อเนื่องของการดำรงตำแหน่งของกรรมการ เพื่อให้การพัฒนารัฐวิสาหกิจเป็นไปตามทิศทางที่ได้วางไว้
ด้านรัฐวิสาหกิจ จากในปี 2550 ที่ผ่านมาจนถึง 5 ปีข้างหน้า สคร. ได้ร่วมมือกับรัฐวิสาหกิจ กระทรวงเจ้าสังกัด และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในการกำหนดแนวนโยบายการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ (Statement of Direction : SOD) ในสาขาต่างๆ ประกอบด้วย สาขาพลังงาน สาขาขนส่ง สาขาสื่อสาร สาขาเกษตร สาขาการเงิน และสาขาประปา
และด้านการพัฒนาองค์กร สคร. การพัฒนาทั้งสภาพแวดล้อมการทำงานให้เทียบเคียงเอกชน การพัฒนาข้าราชการและบุคลากร สคร. ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลรัฐวิสาหกิจและทรัพย์สินของรัฐ ตลอดจนมุ่งหวังให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ High Performance Organization และปรับบทบาทใหม่ให้เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาเชิงรุกร่วมกับรัฐวิสาหกิจ (Pro-Active Relationship Platform)
“5 ปีที่ผ่านมาของการทำงาน สคร. ถือว่าได้พยายามวางรากฐานการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ ให้แก่รัฐวิสาหกิจมากยิ่งขึ้น ซึ่งปณิธานต่อจากนี้ไปจะยังคงดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่น เข้มแข็ง และการปฏิบัติภารกิจหน้าที่ตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ เพื่อพัฒนารัฐวิสาหกิจให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ และพัฒนาประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายอารีพงศ์ กล่าว