กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
เปี่ยมด้วยสีสันนวัตกรรมและพลังคนรุ่นใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดงาน KMITL Engineering Project Day 2018 โชว์ผลงานกว่า 500 นวัตกรรมจากเมคเกอร์รุ่นใหม่ที่สอดคล้องอุตสาหกรรม 4.0 และลงนาม MOU ความร่วมมือกับ นายแจ๊ค จาง (Jack Zhang) ผู้จัดการทั่วไป อาลีบาบา กรุ๊ป ร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 พร้อมเปิดเวทีการประกวดสุดยอดนวัตกรรม Best Innovation Awards 2018 ให้นักประดิษฐ์รุ่นใหม่ได้โชว์ศักยภาพ และพบผู้ประกอบการ ณ เคเอ็มไอทีแอล คอนเวชั่นฮอล
รศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ (Anuwat Jangwanitlert) รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารวิชาการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเศรษฐกิจดิจิทัลและไทยแลนด์ 4.0 นอกจากคิดค้นสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์คนหมู่มากและสามารถเข้าถึงได้ง่ายแล้ว ยังต้องมีการตลาดและช่องทางจัดจำหน่ายที่ตอบรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัลช่วยให้ผู้ผลิต เจ้าของสินค้าสามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลงนามความร่วมมือ MOU กับ อาลีบาบา กรุ๊ป ในครั้งนี้เป็นการเรียนรู้จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และจะเปิดคอร์สอนอบรมให้ความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซกับบุคลากรผู้สอน ที่จะช่วยเพิ่มความรู้และทักษะในการนำไปพัฒนารายวิชาที่เกี่ยวข้องให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เนื่องจากสจล.มีหลายวิชาที่เกี่ยวข้องกับด้านอีคอมเมิร์ซเช่น วิชาเป็นผู้ประกอบการ(Entrepreneurship) ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างเสริมโอกาสต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ สร้างสตาร์ทอัพผู้ประกอบการใหม่ และอาจนำไปสู่การร่วมพัฒนาหลักสูตรด้านอีคอมเมิร์ซ ตอบโจทย์การเพิ่มช่องทางการตลาดสำหรับจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรม ให้สอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจยุคดิจิทัล
ด้านนายแจ๊ค จาง (Jack Zhang) ผู้จัดการทั่วไป อาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า การร่วมมือกับสจล.ในครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตมากในประเทศจีนและทั่วโลก ทั้งจำนวนผู้ใช้และจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น อาลีบาบาจึงต้องการพันธมิตรอย่าง สจล. ที่มีบุคลากรคนรุ่นใหม่และมีศักยภาพในการวิจัยพัฒนา และสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆด้วยความคิดสร้างสรรค์ อาลีบาบาจะนำ Global E-Commerce Talent Program มาใช้ในการฝึกฝนอบรมบุคลากรผู้สอน โดยรุ่นแรกอบรมในเดือนสิงหาคม 2561
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี (Komsan Maleesee) คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์ สจล. ในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 1 ใน 10 ของภูมิภาคอาเซียน ในปี2020 เป้าหมายที่ชัดเจนคือการผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะเชื่อมั่นว่า เทคโนโลยี การศึกษา งานวิจัย เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่วางไว้งาน KMITL Engineering Project Day 2018 เป็นเวทีแสดงผลงานเทคโนโลยีและดิจิทัล กว่า 500 นวัตกรรมจากฝีมือเมคเกอร์นักศึกษาคนรุ่นใหม่ครั้งยิ่งใหญ่ วัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี เสริมสร้างความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นทีม มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ ทักษะ ความชำนาญด้านเทคโนโลยีวิศวกรรม ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้มีความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยเชื่อมั่นว่า การจัดงานแสดงผลงานนวัตกรรมที่หลากหลายในครั้งนี้ สามารถต่อยอดความร่วมมือกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่าง ๆได้มากขึ้น เนื่องจากมั่นใจในศักยภาพของนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ที่คิดค้นสร้างสรรค์ผลงานให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง ตอบโจทย์กับผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ เพื่อต่อยอดเป็นชิ้นงานของภาคเอกชนเพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้ และสำหรับ การประกวดสุดยอดนวัตกรรม "Best Innovation Awards 2018" แสดงถึงศักยภาพของเมคเกอร์รุ่นใหม่ ที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมให้สอดรับการพัฒนาประเทศยุคดิจิทัล
ผลการประกวดสุดยอดนวัตกรรม Best Innovation Awards 2018 ผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ 10 ทีม โดยนำเสนองานบนเวทีรายละ 12 นาที เพื่อนำเสนอผลงาน 7นาที และตอบคำถามคณะกรรมการจากภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และองค์กรต่างๆ 5 นาที ผลการตัดlสิน ดังนี้
รางวัลเหรียญทอง แชมป์ชนะเลิศ คือต้นแบบฆ้องวงไฟฟ้าตัวแรกของโลก (Gong Wong Sound Synthesis) ผลงานของ นายวงศธร วงศ์วิวัฒนะศรี และ นายพัสกร กิมาวะหา จากหลักสูตรวิศวกรรมดนตรีและสื่อประสม สจล. 2เมคเกอร์รุ่นใหม่ กล่าวว่า นวัตกรรมชิ้นนี้เกิดจากแนวคิดที่ต้องการสร้างดนตรีไทยให้บรรเลงร่วมกับดนตรีสากลได้ ต้องการยกระดับดนตรีไทยสู่อุตสาหกรรมดนตรีระดับสากล พวกเราจึงนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมการประมวลผลสัญญาณ (Signal Processing) มาสร้างนวัตกรรมทางเสียง เพื่อให้เกิดระบบเสียงฆ้องวงใหม่ที่สามารถประพันธ์บทเพลงด้วยคอมพิวเตอร์ โดยต้นแบบ"ฆ้องวงไฟฟ้า" ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมยืนจดสิทธิบัตรเป็นรายแรกของโลก
รางวัลเหรียญเงิน รองชนะเลิศอันดับ 1 คือ แอพพลิเคชั่นแปลเมนูอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวด้วยสมาร์ทโฟนรายแรกของโลก (Menu Translator Application for Traveler" ผลงานของนายรุ่งหนึ่ง เหลืองกำจร,นายภูเบศ จิรธิติภูวดล และนายศศิน เนาว์รุ่งโรจน์ กลุ่มเมคเกอร์รุ่นใหม่จากหลักสูตรวิศวกรรมสารสนเทศ กล่าวว่า การท่องเที่ยวสร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 2.76 ล้านล้านบาท เรามองเห็นปัญหาด้านการสื่อสารของนักเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนเมืองไทย โดยเฉพาะเวลาสั่งอาหารตามร้านอาหารทั่วไปที่เมนูส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย จึงมีไอเดียนำสมาร์ทโฟนมาเป็นตัวช่วยในการสื่อสาร ผ่านแอพพลิเคชั่นแรกของโลกที่สามารถแปลเมนูอาหารจากรูปภาพภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษพร้อมคำอธิบาย ตอบโจทย์การพัฒนาการท่องเที่ยว 4.0 และสร้างมูลค่าเพิ่มให้อาหารไทยและบริการท่องเที่ยวของประเทศ
รางวัลเหรียญทองแดง รองชนะเลิศอันดับ 2 คือระบบคัดกรองเซลล์มะเร็งปากมดลูกด้วยปัญญาประดิษฐ์(AI) (Cervical Cancer Cells Classification using Artificial Intelligent) ผลงานของ นายธนกฤษ จิตติชัยเวทย์ และนายสุวิชา ศศิวิมลกุล เมคเกอร์รุ่นใหม่จากหลักสูตรวิศวกรรมชีวการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบในวงการแพทย์คือขาดแคลนพยาธิแพทย์ หรือแพทย์เฉพาะทาง ประกอบกับการตรวจวิเคราะห์มะเร็งปากมดลูกต้องใช้เวลานานในการรอผลตรวจ จึงพัฒนานวัตกรรมที่เรียกว่า "เครื่อง Deep Scan" โดยนำระบบของปัญญาประดิษฐ์(AI) มาช่วยวิเคราะห์ลักษณะเซลล์เนื้อเยื่อได้รวดเร็วแม่นยำและสามารถบันทึกและจัดเก็บข้อมูลจำนวนมากด้วยระบบคลาวด์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษาและวงการแพทย์