กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
มีรายงานว่า ในปี 2557 เกี่ยวกับสถานการณ์โรคอ้วนในประเทศไทย บ่งชี้ว่าคนไทย 1 ใน 3 มีน้ำหนักที่เกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน โดยสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอันดับที่ 2 ในภูมิภาค Southeast Asia ที่ประชากรมีปัญหาโรคอ้วน เป็นรองเพียงประเทศมาเลเซียเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก ซึ่งโรคอ้วนนั้นเป็นโรคที่บั่นทอนสุขภาพของคนไทย เป็นสาเหตุของโรคต่างๆที่จะตามมาอีกมากมาย อาทิ ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคข้อเข่าเสื่อม โรคเบาหวาน เป็นต้น
จากงานประชุมวิชาการครั้งที่ 29 ภาคประชาชน ของโรงพยาบาลราชวิถี ได้มีการสัมมนาให้ความรู้แก่ประชาชนในหัวข้อต่างๆ โดยหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานประชุมฯ ในครั้งนี้เป็นอย่างมากคือ การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โดย พญ.โชติรส อังกุระวรานนท์ นายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานครั้งนี้กว่า 3,000 คน
พญ.โชติรส อังกุระวรานนท์ นายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า อุบัติการณ์โรคอ้วนในประเทศไทยปัจจุบัน มีตัวเลขที่ค่อนข้างเยอะถึง 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร โดยกทม. มีความเสี่ยงโรคอ้วนมากกว่า ประชากรในต่างจังหวัด โดยสาเหตุหลักมาจากอาหารการกิน และการใช้ชีวิต ทำงานหนักโดยขาดการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคอ้วน โดยโรคอ้วนนั้นส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย เป็นสาเหตุการณ์เกิดโรคต่างๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคข้อเข่าเสื่อม โรคเบาหวาน เป็นต้น
ซึ่งการรักษาโรคอ้วนนั้นทำได้หลายวิธี โดยเบื้องต้นจะเริ่มจากการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตของผู้ป่วย โดยการควบคุมอาหาร และโภชนาการในแต่ละวัน ควบคู่กับการออกกำลังกาย ซึ่งหากการรักษาด้วยวิธีนี้ยังไม่เป็นที่พอใจ ก็จะมีการให้ยาเพื่อให้ได้ผลที่ดีขึ้น ซึ่งมีหลายเคส อาจจะไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งวิธีสุดท้ายก็คือการผ่าตัดเพื่อรักษานับว่าเป็นการรักษาโรคอ้วนที่ดีที่สุดซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก
โดยการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนนั้น เป็นการผ่าตัดกระเพาะอาหาร ซึ่งวิธีที่นิยมมีอยู่ 2 วิธี
1. การผ่าตัดเพื่อจำกัดพื้นที่กระเพาะ ซึ่งทำให้กระเพาะมีขนาดเล็กลง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
2. การผ่าตัดเพื่อจำกัดพื้นที่กระเพาะและทำบายพาส เป็นการผ่าตัดแยกกระเพาะอาหารให้มีขนาดเล็กลง จากนั้นตัดแยกลำไส้เป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งมาต่อกับกระเพาะเพื่อบายพาสอาหาร
ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดจะให้ผลในระยะแรกที่ดี สามารถลดภาวะโรคอ้วนได้ แต่ในระยะยาวขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งต้องดูแลและควบคุมการกินอาหาร ควบคู่กับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อผลที่ดีในระยะยาว และตลอดชีวิตของผู้ป่วย โดยหลังจากผ่าตัดแพทย์จะนัดดูอาการ ทุก 3-9 เดือน และหลังจากนั้นก็จะนัดเพื่อติดตามการรักษาทุกปี
นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อที่ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงาน คือ ป้องกัน - ดูแล แผลเบาหวานแบบง่ายๆ ได้ที่บ้าน โดยมี นพ. หลักชัย วิชชาวุธ นายแพทย์ชำนาญการ กลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี เผยว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน คือ... 1.การมีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักที่มากกว่าปกติ
2.กรรมพันธุ์ 3.อายุ ถ้าอายุมากขึ้นทำให้มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้ 4.ความดันโลหิตสูง 5.การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ จำพวกน้ำตาล แป้ง และไขมันมากเกินไป 6.ขาดการออกกำลังกาย ซึ่งอาการเบื้องต้นของโรคเบาหวานสังเกตง่ายๆ คือ ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวัน และกลางคืน กระหายน้ำมากกว่าปกติ น้ำหนักลดลง รู้สึกอ่อนเพลียง่าย มีอาการชาที่ปลายมือและปลายเท้า
และถ้ามีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพื่อทำการรักษา โรคเบาหวานนอกจากจะเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ยากแล้ว อาจจะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ได้ ดังนั้นผู้ป่วยควรดูแลตนเองให้ดี อาทิ ควรใส่ถุงเท้าและรองเท้าสำหรับใส่ในบ้าน รวมทั้งควรเคาะรองเท้าก่อนใส่ เพื่อป้องกันเศษต่างๆในรองเท้า และการตัดเล็บควรตัดเล็บในแนวเส้นตรง ไม่ควรตัวเล็บตามความโค้งของเล็บ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลในส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพราะเมื่อเป็นแล้วแผลจะหายช้ากว่าปกติ ซึ่งแผลอาจเกิดอาการแทรกซ้อน นำไปสู่การติดเชื้อและลุกลามจนทำให้เนื้อเยื้อตาย และต้องตัดทิ้งได้
ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยเบาหวานเกิดเป็นแผล ควรจะทำความสะอาดแผลด้วยสบู่ โดยใช้น้ำอุ่น หรือน้ำเกลือ และทำความสะอาดรอบๆบาดแผลด้วยความเบามือ ไม่ควรล้างแผลด้วยแอลกอฮอล์ เพราะมีฤทธิ์ในการทำลายโปรตีนในเนื้อเยื้อได้ จากนั้นเช็ดให้แห้ง ใส่ยาทำแผล และปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลสะอาดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ไม่ควรใช้พลาสเตอร์ปิดแผลโดยตรง และควรทำความสะอาดแผลอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน ซึ่งหากมีแผลมีอาการแดง หรือบวมขึ้นหลังจากทำแผล ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาปัจจุบันโรงพยาบาลมีผู้ป่วย โรคเบาหวานประมาณ 2 หมื่นคน รักษาหายน้อยมากส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอ้วนที่มีระดับน้ำตาลไม่สูงมาก และกำลังรักษาประมาณ 1 หมื่น 4 พันคน
ทั้งนี้ โรงพยาบาลมีพื้นที่อำนวยความสะดวกค่อนข้างจำกัด จึงทำให้เกิดความแออัดที่ห้องตรวจอย่างมาก และขณะนี้รพ.กำลังสร้างอาคารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลฯ เพื่อขยายพื้นที่ในการรองรับ และรักษาผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตเมื่ออาคารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลฯ เสร็จก็จะสามารถเปิดรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น และลดระยะเวลาของการรอรับการรักษาของผู้ป่วยได้
ดังนั้น ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมแบ่งปันน้ำใจสมทบทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ผ่านมูลนิธิรพ.ราชวิถี บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา รพ.ราชวิถี ประเภทบัญชี ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 051-2-16322-1 หรือ สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 02–3547997-9 หรือ http://www.rajavithihospitalfoundation.org