สถานะการให้สิทธิ GSP ของญี่ปุ่น ภายหลัง JTEPA มีผลบังคับใช้

ข่าวทั่วไป Thursday November 1, 2007 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยและญี่ปุ่นได้มีการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 นับเป็นอีกหนึ่งความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ประเทศไทยทำกับประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการขยายการค้า การลงทุนและความร่วมมือกับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม แม้ว่า JTEPA จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่ประเทศญี่ปุ่นเคยให้แก่ประเทศไทยนั้นยังคงมีอยู่ต่อไป โดยผู้ส่งออกไทยจะต้องพิจารณาว่า ระบบไหนที่จะให้ สิทธิประโยชน์ด้านภาษีมากกว่ากัน ซึ่งหากใช้ระบบ GSP ก็จะต้องขอ Form A ในขณะที่การใช้สิทธิ JTEPA จะต้องขอ Form JTEPA จึงขอให้ผู้ส่งออกเตรียมเอกสารให้ถูกต้องเรียบร้อยเพื่อใช้ประกอบการส่งออกสินค้า
สำหรับในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม — สิงหาคม) ของปี 2550 ไทยส่งออกสินค้าไปตลาดญี่ปุ่น มีมูลค่ารวม 12,672.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 12.23 ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 จะพบว่า มูลค่าการส่งออกของไทยไปตลาดญี่ปุ่นมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.57 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมันเบนซิน เครื่องคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ยางพารา ไก่ปรุงสุก อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์เซรามิก และเลนส์ เป็นต้น
ด้านการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม — สิงหาคม) ของปี 2550 กรมการค้าต่างประเทศได้ออกหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form A) จำนวน 32,679 ฉบับ โดยคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 939.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อพิจารณาเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 พบว่ามูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP ของญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97 (จาก 912.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2549)
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันทางกรมฯ ได้มีการจัดฝึกอบรม/สัมมนา เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ ความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อ ขอทราบรายละเอียดได้ที่ สำนักส่งเสริมและพัฒนาสิทธิประโยชน์ทางการค้า โทร. 02-5474817, 02-5475097 หรือ โทรสายด่วน 1385

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ