กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการภาคีเครือข่ายเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ปี 2561 ก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูฝนปลายเดือนพฤษภาคม นี้
วันนี้ (4 พ.ค.61) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ด้วยประเทศไทยกำลังจะเข้าช่วงฤดูฝนของปี 2561 ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2561 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานกลางของรัฐในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อลดความสูญเสียและสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ตามกลไกที่กำหนดในพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ด้วยการตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัด/อำเภอ และ อปท. ทุกพื้นที่ พร้อมเปลี่ยนสถานะเป็นศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เมื่อเกิดหรือใกล้เกิดสถานการณ์อุทกภัย ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อประเมินพื้นที่เสี่ยง ทำแผนเผชิญเหตุในพื้นที่เสี่ยง ตามกลไกต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ประสานความพร้อมด้านกำลังพล ทรัพยากรเครื่องมืออุปกรณ์ เชื่อมโยงการปฏิบัติระหว่างหน่วย จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์สภาพอากาศและสภาพน้ำท่าตลอด 24 ชั่วโมง ประสานข้อมูลการบริหารจัดการน้ำกับกรมอุตุนิยมวิทยา สสนก. GISTDAกรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน (SWOC) และเหล่าทัพ เพื่อประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย ณ กรม ปภ. ทุกวันพฤหัสบดี เพื่ออำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยได้เตรียมเสนอข้อสั่งการแนวทางดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ต่อผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) เพื่อสั่งการไปยังจังหวัด ใช้เป็นแนวทางดำเนินการและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมบูรณาการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ ทั้งนี้ กรม ปภ. ได้เตรียมพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย ยานพาหนะ เรือและอุปกรณ์ ทั้ง 18 ศูนย์ ปภ. เขต สำหรับสนับสนุนภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัด เตรียมกระจายไปตามจังหวัดที่มีความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า และกรณีที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงขึ้น ก็สามารถระดมทรัพยากรจากศูนย์ ปภ. เขต ที่ไม่มีสถานการณ์ ไปยังพื้นที่ที่มีสถานการณ์รุนแรงได้ทันที
อธิบดี ปภ. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กรมฯ ได้เร่งรัดศูนย์ ปภ.เขต และจังหวัด ดำเนินการโครงการขุดลอกคูคลอง หนองสระน้ำและแหล่งน้ำสาธารณะให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับน้ำ หน่วงน้ำ และเส้นทางไหลของน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำ มีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้ความมั่นใจว่า กรม ปภ. และหน่วยงานทุกภาคส่วน จะร่วมมือบูรณาการในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยอย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงและความสูญเสียจากภาวะอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น