ปภ. แนะผู้ปฎิบัติงานเพิ่มความปลอดภัยในการทำงาน

ข่าวทั่วไป Tuesday October 9, 2007 11:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ห่วงใยความปลอดภัยของผู้ใช้แรงงาน แนะผู้ปฏิบัติงานไม่ควรประมาท เพิ่มความระมัดระวังอันตรายจากการทำงาน ปฏิบัติตามกฎระเบียบในการทำงานอย่างเคร่งครัด ด้านเจ้าของสถานประกอบการควรสร้างสภาพแวดล้อมสถานประกอบการให้ปลอดภัย สนับสนุนให้มีการอบรมการใช้เครื่องมืออย่างสม่ำเสมอ จัดให้มีการฝึกซ้อมแผนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตามหลักกฎหมายกำหนด
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมจากผู้ใช้แรงงานเอง ทั้งจากความประมาท ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การขาดความเอาใจใส่ในเรื่องความปลอดภัย และจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติตามกฎระเบียบหลักความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด แต่งกายให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่ปฏิบัติ สำหรับผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ควรสวมเสื้อกางเกงที่เป็นชุดเดียวกัน ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่มีลักษณะรุ่มร่าม เพราะส่วนใดส่วนหนึ่งของเสื้อผ้า อาจเข้าไปติดกับเครื่องจักรที่กำลังหมุนอยู่ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการเชื่อมโลหะหรือเจียระไน ควรสวมแว่นตาเพื่อช่วยกรองแสงและป้องกันเศษโลหะหรือประกายไฟกระเด็นใส่นัยน์ตา หากทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดังเกินกว่าปกติควรใส่ที่
ครอบหู เพื่อลดความดังของเสียง หากทำงานในบริเวณที่เสี่ยงต่อการถูกวัตถุตกกระแทกใส่ควรสวมหมวกนิรภัยหรือเครื่องป้องกันศีรษะ ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ อีกทั้งควรใช้เครื่องมือในการปฏิบัติงานให้ถูกวิธี ถูกขนาดและถูกกับลักษณะของงาน หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่ชำรุดเสียหาย เก็บรักษาอุปกรณ์เครื่องมือให้เป็นระเบียบหลังจากใช้งานเสร็จเรียบร้อย ปฏิบัติตามคำเตือนและป้ายแสดงอันตรายอย่างเคร่งครัด หมั่นเรียนรู้ และศึกษาตำแหน่ง วิธีการใช้อุปกรณ์นิรภัย เช่น ถังดับเพลิง เป็นต้น และไม่เล่นหยอกล้อ กระโดด ปีนป่ายในระหว่างการทำงานเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ด้านผู้ประกอบการควรสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย โดยสถานที่ทำงานควรมีแสงสว่างเพียงพอ สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก และควรจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ เครื่องจักรให้พนักงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความชำนาญ รวมทั้งสนับสนุนให้มีมาตรการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการ ติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัยต่างๆ จัดเตรียมเครื่องป้องกันอันตรายให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงภัย ตลอดจนจัดให้มีการฝึกซ้อมแผนอพยพกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตามหลักกฎหมายกำหนด เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ