กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,258 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 1 - 4 พฤษภาคม 2561 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย บนวิสัยทัศน์ที่ ว่า "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" ในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ไทยแลนด์ 4.0 ถือเป็นการพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนประเทศที่มีอยู่ 2 ด้าน คือ ความหลากหลายเชิงชีวภาพ และ ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม เน้น ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย 1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ 2. กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ 3. กลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม 4. กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว 5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง การขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมุ่งเน้นการใช้แนวทางพลังประชารัฐ คือ การมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ชุมชน จังหวัด สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยต่างๆ รวมทั้งยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์ของพระราชาเป็นพื้นฐานในการพัฒนา และใช้ความได้เปรียบของประเทศไทยในความหลากหลายเชิงชีวภาพ และความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ตลอดจนยึดหลักการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก เป้าหมายของ นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นอกจากเศรษฐกิจ 4.0 แล้ว ยังมีสังคม 4.0 คือการที่สังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ มีความเป็นธรรม เข้มแข็ง มีความเหลื่อมล้ำน้อย มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถผนึกกำลังเพื่อพัฒนาประเทศร่วมกัน และคนไทย 4.0 คือคนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 มีความรู้ ทักษะ ความสามารถสูง มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคม ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เข้าใจกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ร้อยละ 53.5 และคิดว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้น ร้อยละ 52.9
คิดว่าการใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานแทนการจ้างแรงงานคน ร้อยละ 52.1 และคิดว่าในอนาคต แรงงานคน จะได้รับผลกระทบกับบริษัทหรือโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์แทนคน ร้อยละ 57.7
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าอาชีพที่จะตกงานมากที่สุดเมื่อบริษัทหรือโรงงานใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติหรือปัญญาประดิษฐ์ อันดับหนึ่งคือ อาชีพพนักงานโรงงาน ร้อยละ 33.3 อันดับที่สองคือ อาชีพบัญชี ร้อยละ 21.9 อันดับที่สามคือพนักงานขาย ร้อยละ 19.7
คิดว่าประเทศไทยจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมของนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการเน้นเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และภาคบริการ ร้อยละ 53.3
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในปัจจุบันประสบความสำเร็จ ร้อยละ 46.3 และคิดว่ารัฐบาลได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ร้อยละ 48.4