กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "คนไทยคิดอย่างไร กับ หวยออนไลน์ - ล็อตโต้" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 2 พฤษภาคม 2561 จากประชาชน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับหวยออนไลน์ - ล็อตโต้ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค
จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูล ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนกับกรณีที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะพิมพ์สลากเลขชุดออกจำหน่ายเอง เพื่อลดปัญหาการขายสลากเกินราคา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.20 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ จะได้ซื้อได้ในราคาที่กำหนด มีราคา ที่แน่นอน สามารถควบคุมราคาได้ ลดปัญหาพ่อค้าคนกลางและการเอาเปรียบผู้บริโภค รองลงมา ร้อยละ 24.16 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ไม่อยากให้มีการขายเลขชุด ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ขณะที่บางส่วนระบุว่า น่าจะมีวิธีการจัดการกับพ่อค้าคนกลางมากกว่าการจัดพิมพ์จำหน่ายเอง และยังทำให้พ่อค้าแม่ค้ามีรายได้ลดลงอีกด้วย และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะเพิ่มการขาย "หวยออนไลน์" พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.68 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ สะดวก หาซื้อง่าย ถูกต้องตามกฎหมาย ง่ายต่อการควบคุมราคา และยังช่วยลดปัญหาการขายสลากเกินราคา ขณะที่บางส่วนระบุว่า เพื่อลดการซื้อหวยใต้ดินลง รองลงมา ร้อยละ 30.72 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ มีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน สามารถเข้าถึงได้ยาก ไม่สะดวกเท่าการซื้อตามแผงขายทั่วไป อีกทั้งสามารถโกงได้ง่าย ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้มีการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพื่อลดการสร้างหนี้ของประชาชน และร้อยละ 1.60 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะเพิ่มการขาย "หวยล็อตโต้" พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.68 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ สะดวกในการเลือกซื้อ ง่ายในการควบคุมราคา เป็นการเพิ่มช่องทางในการเลือกซื้อ มีโอกาส ในการถูกรางวัลค่อนข้างสูง และได้ซื้อเลขที่ชอบ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เพื่อลดการซื้อหวยใต้ดินลง และเป็นการช่วยอุดหนุนรัฐบาลอีกด้วย รองลงมา ร้อยละ 38.08 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ค่อนข้างยุ่งยาก และวุ่นวาย สำหรับคนที่ใช้ไม่เป็น มีตัวเลือกมากเกินไป ทำให้ประชาชน งมงายมากขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้มีการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเพียงอย่างเดียว และให้จบเป็นงวด ๆ ไป และร้อยละ 8.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ขายสลากเกินราคา จากเดิมโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท เปลี่ยนเป็น จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะสามารถแก้ไขปัญหาการขายสลากเกินราคาได้หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.36 ระบุว่า แก้ไขไม่ได้ เพราะ บทลงโทษยังไม่รุนแรงพอ การบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง ทำให้ไม่มีความเกรงกลัวกฎหมาย ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ตรงจุด เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีมานานและไม่สามารถแก้ไขได้ รองลงมา ร้อยละ 43.60 ระบุว่า แก้ไขได้ เพราะ มีการเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงขึ้น ทำให้เกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมายและไม่กล้ากระทำผิด ขณะที่บางส่วนระบุว่า อยากให้มีการบังคับใช้บทลงโทษอย่างจริงจัง และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับกรณีที่กรมสรรพากรแก้กฎหมายที่ใช้มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2525 ในการเรียกเก็บ ค่าอากรแสตมป์ จากผู้ที่ถูกลอตเตอรี่จากเดิม ร้อยละ 0.5 ของเงินรางวัล เพิ่มเป็น ร้อยละ 2 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.64 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง ซึ่งมีโอกาสที่จะถูกน้อยมาก และไม่เป็นธรรมกับประชาชน ขณะที่บางส่วนระบุว่า เก็บในอัตราเดิมก็เหมาะสมดีแล้ว รองลงมา ร้อยละ 32.24 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เงินจะได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้น สามารถนำเงินที่เพิ่มขึ้นมาช่วยเหลือประชาชนและพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ต่อไป ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว ไม่มากหรือน้อยเกินไป และร้อยละ 1.12 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 9.28 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.48 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.60 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 32.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.64 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 54.72 เป็นเพศชาย และร้อยละ 45.28 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 7.12 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 16.16 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 23.36 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.20 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 18.96 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 1.20 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 93.20 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.56 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.20 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 3.04 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.00 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 71.84 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.80 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 3.36 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 26.32 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.00 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.48 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.72 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.24 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.24 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 12.32 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.56 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.12 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.64 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 16.08 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.28 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.68 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 4.32 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 16.08 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.64 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 23.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.16 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 11.84 ไม่ระบุราย
ได้