กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
- ธรรมศาสตร์ ชูไอเดียการเรียนหลักสูตรแนวใหม่ อาทิ เรียนในสถานประกอบการจริงกว่า 1 ปีการศึกษา เลือกเรียนอิสระตามความสนใจ ลดการเรียนในห้อง เพิ่มการเรียนรู้ออนไลน์ ฯลฯ โดยตั้งเป้าผู้สำเร็จการศึกษาต้องพร้อมทำงาน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายทันทีอย่างมีประสิทธิภาพ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิด 5 หลักสูตรใหม่ปีการศึกษา 2562 ได้แก่ หลักสูตรนวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล หลักสูตรวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ หลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร และ หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล จากความร่วมมือหน่วยงานภายในและภาคเอกชน โดยหลักสูตรดังกล่าวได้รับการจัดรูปแบบการเรียนรู้แนวใหม่ อาทิ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในสถานประกอบการจริง สามารถเลือกเรียนอย่างอิสระจากความสนใจของนักศึกษา วิชาศึกษาทั่วไปนอกห้องเรียน ฯลฯ เพื่อสร้างบัณฑิตที่ตอบโจทย์และมีความพร้อมในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา ในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นกว่า 70,000 คนต่อปี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานทะเบียนนักศึกษา มธ. โทรศัพท์ 091-576-0868, 081-810-7783 เว็บไซต์ www.reg.tu.ac.th และเฟสบุ๊คแฟนเพจ Thammasat Admissions 61
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มธ. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายกำหนดกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ หรือที่เรียกว่า 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จากการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิม (First S-curve) ให้มีศักยภาพสูงขึ้น และเพิ่มเติม 5 อุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) เพื่อเป็นการชักจูงกลุ่มนักลงทุนต่างชาติให้หันมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ในช่วงปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2564 มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นกว่า 70,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มธ. จึงสร้างความร่วมมือระหว่างคณะภายในมหาวิทยาลัยและภาคเอกชนชั้นนำของประเทศไทย อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามกลการ จำกัด บริษัทในเครือเอสซีจี บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ซูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฯลฯ เปิดหลักสูตรใหม่ เพื่อรองรับความต้องการแรงงานที่เพิ่มขึ้น จำนวน 5 หลักสูตร อันประกอบด้วย
1. หลักสูตรนวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล เรียนรู้ข้อมูลทางดิจิทัล อาทิ ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากวิทยาลัยนวัตกรรม
2. หลักสูตรวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ อาทิ ยาพาหนะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (Electric Vehicle) จากคณะวิศวกรรมศาสตร์
3. หลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพในอนาคต จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
4. หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร ผลิตนักนวัตกรรมอาหาร พร้อมทำงานในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
5. หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล หลักสูตรที่บูรณาการความรู้ทั้งคณิตศาสตร์ สถิติ คอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และนวัตกรรม เพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมจากข้อมูลเพื่อใช้ในการสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจและลูกค้า จากความร่วมมือของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับวิทยาลัยนวัตกรรม
หลักสูตรดังกล่าวผู้เรียนจะได้เรียนด้วยวิธีการและรูปแบบการเรียนรู้แนวใหม่ โดยผู้เรียนจะต้อง เรียนรู้ในสถานประกอบการจริง เป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษาถึง 1 ปีการศึกษาครึ่ง และสามารถเลือกเรียนวิชาโทจากต่างคณะตามความสนใจของตนเอง โดยไม่มีการจำกัดหรือบังคับการเลือกวิชาเรียน รวมถึงการเรียนวิชาศึกษาทั่วไปนอกห้องเรียน ที่นักศึกษาสามารถเรียนและเก็บหน่วยกิตวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) ซึ่งเป็นวิชาบังคับ ผ่านการเรียนแบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนในห้องเรียน ทั้งนี้แนวทางดังกล่าว เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนวิชาเรียนที่ตนสนใจได้มากขึ้นและสามารถขยายองค์ความรู้ให้มีหลากหลาย และเป็นแนวทางการสร้างประสบการณ์ เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหาที่อาจพบเจอในการทำงาน ทั้งนี้หลักสูตรดังกล่าวกำหนดรับนักศึกษา ผ่านระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา (TCAS) ปีการศึกษา 2561 รอบที่ 3 4 และ 5 รศ.ดร.ชาลี กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานทะเบียนนักศึกษา มธ. โดยสามารถตรวจสอบคุณสมบัติและสมัครออนไลน์ได้ที่ www.reg.tu.ac.th โทรศัพท์ 091-576-0868, 081-810-7783 เว็บไซต์ www.reg.tu.ac.th และเฟสบุ๊คแฟนเพจ Thammasat Admissions 61