กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กพร. จัดเต็มอัตรา มุ่งเป้า ฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนกว่า 3 แสนราย สพร. สนพ. ลงพื้นที่สำรวจความต้องการ พร้อมจัดกลุ่มฝึกอาชีพ ย้ำ ฝึกจบ ต้องมีอาชีพ มีรายได้ มั่นคง ยั่งยืน
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ระบบสารสนเทศ (Data center)
ของ กพร. กระทรวงแรงงาน มีจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่ยื่นความจำนงฝึกอาชีพในหลักสูตรต่างๆ กว่า 338,000 คน ซึ่งจังหวัดสุรินทร์ อุบลราชธานี และเชียงราย มีจำนวนผู้ยื่นความจำนงเป็นอันดับต้นๆ กพร. ได้วางแผนการฝึกอาชีพเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ ฝึกช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) และฝึกอาชีพเสริม (อาชีพอิสระ) ซึ่งกิจกรรมแรกจะมอบเครื่องมือประกอบอาชีพให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกด้วย เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบไม่เหวี่ยงแห มีเป้าหมายชัดเจน และออกแบบแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนจนอย่างครอบคลุมทั่วถึง เน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นการยกระดับการฝึกทักษะฝีมือแรงงาน ตามนโยบายเร่งด่วนของพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ได้รับรายงานความคืบหน้าจากหน่วยงานในสังกัดของ กพร. ได้แก่ สถาบัน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ. และ สนพ.) ทุกแห่ง อาทิ สนพ. นนทบุรี สนพ. พระนครศรีอยุธยา สนพ. สุรินทร์ และ สนพ.นราธิวาส ได้ร่วมประชุมกับหัวหน้าส่วนแรงงานจังหวัดในการเตรียมความพร้อม
ที่จะฝึกอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และเตรียมความพร้อมทั้งด้านของวิทยากร สถานที่ คู่มือปฏิบัติงาน การจัดกลุ่มหลักสูตร กลุ่มเป้าหมายการฝึก การกำหนดสถานที่ฝึก มีคณะทำงานพัฒนาทักษะอาชีพระดับอำเภอ และทีมเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เสนอแนะแผนที่ชีวิต ลงพื้นที่ประสานหน่วยงานในชุมชนเพื่อพบกลุ่มเป้าหมาย ประกบผู้มีรายได้น้อยทุกราย นัดหมายการเข้ารับการฝึกตามกำหนด ทั้งนี้ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลระบบตู้งาน (Job Box) ของกรมการจัดหางาน เน้นมีงานทำ มีรายได้ พ้นขีดความยากจน ซึ่งจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด
ทั้งนี้การฝึกอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่จะช่วยเหลือสร้างโอกาสการมีรายได้และมีงานทำให้กับผู้มีรายได้น้อยทุกราย ซึ่ง กพร. ไม่ใช้การเหวี่ยงแห ไม่แจกปลา แต่จะสอนวิธีการจับปลาอย่างมีเป้าหมาย ด้วยกระบวนการฝึกให้เป็นแรงงานที่มีทักษะ (Skilled labour) และพร้อมที่จะยกระดับทักษะต่อไป (Up skilled) เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ มีชีวิตที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ และช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน อธิบดี กพร. กล่าว