กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
วันนี้ (วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม 2561) เวลา 10.00 น. นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดี รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร และ พลเรือเอกพัลลภ ทองระอา ผู้แทนผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ร่วมกันเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมสัมมนา ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2561 ระหว่างวันที่ 7 - 9 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรมเคปราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
โดยมีผู้เข้าร่วมงานดังกล่าวกว่า 50 ราย จาก 7 หน่วยงาน ได้แก่ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และกรมศุลกากร
นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดี รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร กล่าวว่า โครงการประชุมสัมมนา ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)
ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาสมรรถนะในการปฏิบัติงานด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของผู้ปฏิบัติงานร่วมใน ศรชล. อีกทั้ง ยังเสริมสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางศุลกากร ให้ผู้ปฏิบัติงานร่วมใน ศรชล. สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนได้อย่างถูกต้อง และเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปฏิบัติงานร่วมใน ศรชล. สำหรับการประชุมใน ครั้งที่ 2 ปีงบประมาณ 2561 นี้ หน่วยงานใน ศรชล. และกรมศุลกากรได้ร่วมกำหนดหัวข้อในการประชุมสัมมนาภายใต้เรื่อง "การปฏิบัติหน้าที่ด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางศุลกากร ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560" และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานด้านศุลกากร ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับ National Single Window (NSW) และความรู้เกี่ยวกับสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (Dual Use Items) ซึ่งได้รับเกียรติบรรยายโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง และวิทยากรจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการลงพื้นที่เยี่ยมชมการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ศุลกากร ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานเพื่อการสืบสวนป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางศุลกากรให้แก่ผู้ปฏิบัติงานร่วมใน ศรชล. ซึ่งหัวข้อในการประชุมสัมมนาดังกล่าวฯ ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับขอบเขตภารกิจในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในการปฏิบัติหน้าที่ของ ศรชล.
นายชัยยุทธ คำคุณ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภัยคุกคามในทะเลและที่มาจากทะเลสู่ฝั่ง มีการขยายรูปแบบและขอบเขตมากขึ้น โดยปัญหาที่สะท้อนถึงความรุนแรงของภัยคุกคามทางทะเล ได้แก่ ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในภาคการประมงและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ปัญหาการก่อการร้ายในทะเล ปัญหาการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นในทะเล ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ปัญหาการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมายและยาเสพติด ปัญหาอุบัติเหตุทางทะเล และภัยพิบัติทางธรรมชาติในทะเล ฯลฯ ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
ในทุกมิติ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องกำหนดกรอบและแนวทางดำเนินการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของไทยให้มีความชัดเจน และมีกลไกในการขับเคลื่อนทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่เข้มแข็งเพื่อให้การควบคุมและบังคับใช้กฎหมายในทะเลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ ตามแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.ศ. 2558-2564 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อ 21 ตุลาคม 2557 ได้กำหนดกรอบและแนวทางการดำเนินการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของไทย โดยกำหนดให้มีกลไกขับเคลื่อนระดับนโยบาย ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล (นอปท.) และมีศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เป็นกลไกระดับปฏิบัติ ประกอบด้วยหน่วยงานจำนวน 6 หน่วยงาน ได้แก่ กองทัพเรือ กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมศุลกากร และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ในฐานะกลไกขับเคลื่อนระดับปฏิบัติเพื่อการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของไทย ได้จัดทำแผนปฏิบัติงานเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานร่วมระหว่างหน่วยงานทั้ง 6 หน่วยงาน โดยแผนปฏิบัติงานระดับนโยบายได้กำหนดให้จัดการประชุม ศรชล. ในแต่ละปีงบประมาณจำนวน 3 ครั้ง โดยการประชุม ศรชล. ครั้งที่ 2 ของแต่ละปีงบประมาณให้หน่วยงานใน ศรชล. หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนเป็นเจ้าภาพ
ด้านพลเรือเอกพัลลภ ทองระอา ผู้แทนผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กล่าวว่า ได้เห็นประโยชน์จากกิจกรรมและการสัมมนาของ ศรชล. ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงทางทะเลของชาติ อีกทั้งยังคงเห็นความมุ่งมั่นอันแรงกล้า และความกล้าหาญของแต่ละหน่วยงานใน ศรชล. ที่ยอมสละความเป็นตัวตนของหน่วยงานมาร่วมกันปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวม และจากการกำหนดหัวข้อการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปฏิบัติงานในทางทะเลของเจ้าหน้าที่และเป็นการรับรองความเป็นมืออาชีพของกำลังพลในการบังคับใช้กฎหมายต่อไปอันเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเตรียมความพร้อมในการยกระดับ ศรชล. เป็นศูนย์อำนวยการประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเร็ววันนี้