กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา ลงนามความร่วมมือโรงแรมในเครือกะตะกรุ๊ป เตรียมส่งนักศึกษาฝึกปฏิบัติสหกิจ เชื่อช่วยสร้างประสบการณ์ทำงาน เพิ่มทักษะทางวิชาชีพ
ดร.ฐปนพัฒน์ ปรัชญาเมธีธรรม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้มรภ.สงขลา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านสหกิจศึกษากับโรงแรมในเครือกะตะกรุ๊ป เนื่องจากมหาวิทยาลัยซึ่งประกอบด้วย 6 คณะ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาการจัดการ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ กับทางบริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการเสริมทักษะการปฏิบัติงานจริงให้แก่นักศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้และทักษะในสายวิชาชีพที่ศึกษา โดยมีขอบข่ายการดำเนินงานตามความร่วมมือบนพื้นฐานการยอมรับของทั้งสองฝ่าย โดยยึดหลักมาตรฐานสหกิจศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และสมาคมสหกิจศึกษาไทย
ดร.ฐปนพัฒน์ กล่าวว่า มรภ.สงขลา จะดำเนินการตามมาตรฐานการเรียนการสอน ด้วยการจัดให้มีการปฐมนิเทศนักศึกษาสหกิจศึกษา เพื่อชี้แจงให้ได้รับข้อมูลและมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสหกิจศึกษา จัดกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนปฏิบัติงานสหกิจ โดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 ชั่วโมง และกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขทางวิชาการของนักศึกษาที่สามารถไปปฏิบัติสหกิจ รวมถึงกำหนดช่วงเวลาที่นักศึกษาปฏิบัติสหกิจศึกษาไม่ต่อกว่า 16 สัปดาห์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะไม่สามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาอื่นใดในช่วงปฏิบัติงานสหกิจศึกษาได้ นอกจากนั้น มรภ.สงขลา จะอำนวยความสะดวกในการให้บริษัทได้คัดเลือกนักศึกษา และจัดให้มีการนิเทศของคณาจารย์นิเทศในระหว่างการปฏิบัติสหกิจศึกษา
ด้าน นายวิศวินท์ ปิติกุลสถิต รองประธานกรรมการ กะตะกรุ๊ป รีสอร์ท กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางบริษัทและผู้บริหารมีนโยบายสนับสนุนและให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานการดำเนินงานสหกิจศึกษา เช่นเดียวกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับหลักการ แนวคิด ตลอดจนประโยชน์ที่จะได้รับในการดำเนินงานดังกล่าว ซึ่งควรให้นักศึกษานำเสนอผลการปฏิบัติงานและประสบการณ์ที่ได้รับ โดยทางบริษัทจะจัดบุคลากรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ประสานงานด้านสหกิจศึกษา และมีผู้นิเทศงานที่มีคุณวุฒิหรือประสบการณ์ตรงตามสาขาวิชาชีพของนักศึกษา นอกจากนั้น จะจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่เหมาะสมและมีความปลอดภัยต่อการปฏิบัติงานของนักศึกษาตามที่บริษัทเห็นสมควร รวมถึงจัดส่งรายละเอียดภาระงาน (Job Descrition) ตำแหน่งงานและแผนปฏิบัติงานสหกิจศึกษาให้มหาวิทยาลัยทราบอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษาก่อนที่นักศึกษาจะไปปฏิบัติงาน
นายวิศวินท์ กล่าวอีกว่า การคัดเลือกนักศึกษาเข้าปฏิบัติงานสหกิจศึกษา มีกระบวนการและเกณฑ์ที่ชัดเจน ซึ่งจะให้คำแนะนำแก่นักศึกษาที่ไม่ได้รับการคัดเลือก เพื่อให้ได้มีโอกาสปรับปรุงตนเองสำหรับการสมัครงานครั้งต่อไป โดยให้สถานศึกษาเป็นผู้ประสานงาน ส่วนนักศึกษาที่ได้รับเลือกจะต้องปฏิบัติงานเต็มเวลาทำการของบริษัท โดยจะมีการกำหนดภาระงานหรือหัวข้อโครงงานที่ตรงกับวิชาชีพและประสบการณ์ทำงาน ตลอดจนมีการอบรมเสริมทักษะเฉพาะที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน และจัดกิจกรรมให้นักศึกษามีโอกาสเผชิญปัญหาที่ท้าทาย ได้ไตร่ตรอง ได้สร้างความรู้ใหม่ และประยุกต์ใช้ในสภาพการปฏิบัติงานจริงได้