กรุงเทพฯ--8 พ.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค
- ท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าแห่งแรกของโลกที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลอย่างเต็มรูปแบบ
- หนึ่งในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่เป็นหัวใจสำคัญเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่แผนไทยแลนด์4.0 หนุนท่าเรือแหลมฉบังเป็นประตูสู่ความเติบโตทางการค้าของไทย
ในงานแถลงข่าววันนี้ ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือชั้นนำในประเทศไทย ได้เปิดตัวโครงการท่าเทียบเรือชุด D ในท่าเรือแหลมฉบัง มูลค่าการลงทุนเกือบ 20,000 ล้านบาท (ราว 600 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยท่าเทียบเรือชุดใหม่นี้จะเป็นท่าเทียบเรือขนส่งสินค้าแห่งแรกของโลกที่มีการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกล (Remote Control Technology) อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ ท่าเทียบเรือชุด D ถือเป็นส่วนสำคัญภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีเป้าที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ทันสมัยผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
ท่าเทียบเรือชุด D จะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมท่าเรือในระดับสากล เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์ ท่าเทียบเรือชุด D จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าของท่าเรือแหลมฉบังได้อย่างมหาศาลถึงราว 3.5 ล้านทีอียู (หน่วยนับตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการก่อสร้างท่าเทียบเรือชุด Dจะประกอบไปด้วยปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึง 3 คัน ปฏิบัติงานผ่านเทคโนโลยีควบคุมจากระยะไกล โดยคาดว่าจะเปิดใช้งานในช่วงแรกนี้ได้ในช่วงกลางปี 2561
มร. สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงความคืบหน้าของท่าเทียบเรือชุด D ในงานแถลงข่าวว่า "เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและการลงทุนในท่าเทียบเรือชุด D นี้ ถือเป็นการลงทุนครั้งล่าสุดของเราที่จะกระตุ้นศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและเอื้อต่อความเจริญเติบโตของกิจการค้าของประเทศ"
ท่าเทียบเรือชุด D ใหม่นี้จะสามารถรองรับเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ช่วยเพิ่มความคล่องตัวและทางเลือกให้กับลูกค้า ควบคู่ไปกับการยกระดับของประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ในคราวเดียวกัน
เมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์แล้ว ท่าเทียบเรือชุด D ใหม่นี้ จะมีความยาวหน้าท่ารวมทั้งสิ้น 1,700 เมตร มีปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า (super post panamax quay cranes) จำนวน 17 คัน และมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางไฟฟ้า (electric rubber tyred gantry cranes) อีกจำนวน 43 คัน ที่ได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงานจากระยะไกลหรือรีโมตคอนโทรล ซึ่งส่งผลดีหลายประการ อาทิ
- เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน
- ยกระดับสภาพแวดล้อมในการทำงานของพนักงานควบคุมปั้นจั่น
- เพิ่มศักยภาพความปลอดภัยด้านอุตสาหกรรม
- สร้างภาพแวดล้อมที่สะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผ่านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
มร.สตีเฟ่น ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า "ฮัทชิสัน พอร์ท มีเครือข่ายท่าเทียบเรืออยู่ถึง 52 แห่ง ใน 26 ประเทศทั่วโลก เราสามารถดึงเอาความรู้ความชำนาญที่มีมาปรับใช้กับแหลมฉบังได้ เช่นเดียวกับการนำเอาหลักปฏิบัติที่ดีที่สุดในโลก เทคโนโลยีชั้นนำในระดับสากล ตลอดจนความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่เรามีกับผู้ประกอบการขนส่งระดับแถวหน้าของโลกมาใช้กับที่นี่ได้ และด้วยความสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เรามั่นใจว่าเทคโนโลยีอันล้ำสมัยของเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างยั่งยืน"
เกี่ยวกับฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (Hutchison Ports Thailand - HPT) ได้รับการก่อตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจขนส่งตู้สินค้าของประเทศไทย บริษัทฯ ตั้งอยู่ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยบนชายฝั่งของจังหวัดชลบุรีที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ลงมาเพียง 130กิโลเมตร ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ให้บริการอำนวยความสะดวกเต็มรูปแบบ รวมถึง บริการสถานีขนถ่ายสินค้า ระบบรถไฟขนส่งรางคู่และมีเส้นทางเชื่อมต่อที่ดีกว่าสู่ทางหลวงสายหลักเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางในที่ต่างๆ ในประเทศไทย โดยมีจุดให้บริการในแหลมฉบังอยู่ที่ ท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 C2 D1 D2และ D3
ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เป็นสมาชิกของกลุ่มฮัทชิสัน พอร์ท ซึ่งเป็นส่วนงานหนึ่งของบริษัท ซีเค ฮัทชิสัน โฮลดิ้งส์ จำกัด (CK Hutchison Holdings Limited) ที่ดำเนินธุรกิจให้บริการด้านท่าเทียบเรือและบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ฮัทชิสัน พอร์ท เป็นผู้ลงทุน พัฒนาและดำเนินกิจการด้านท่าเทียบเรือชั้นนำของโลก มีเครือข่ายท่าเทียบเรือถึง 52 แห่ง กระจายอยู่ใน 26 ประเทศทั่วโลก ทั้งใน เอเซีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ฮัทชิสัน พอร์ท ได้ขยายกิจการครอบคลุมไปถึงธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ท่าเทียบเรือโดยสาร บริการท่าอากาศยาน ศูนย์กระจายสินค้า บริการขนส่งด้วยระบบรางและอู่ซ่อมเรือ