กรุงเทพฯ--9 พ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ที่ระดับ 'AA-(tha)', อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ 'F1+(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ระดับ 'AA-(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
การคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะการดำเนินธุรกิจที่ยังคงแข็งแกร่งของบริษัทฯ อัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำในปัจจุบันของบริษัทฯ ส่งผลให้บริษัทฯ มีความสามารถในการรองรับการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต สำหรับแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทฯ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณา
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ความสามารถในการลงทุนโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้น: ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ TOP จะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 2.3 – 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2561 - 2562 จากระดับสูงที่ 3.6 หมื่นล้านบาทในปี 2560 เนื่องจากการที่อุปทานลดลงชั่วคราว จากการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในสหรัฐฯ กลับมาดำเนินการผลิตตามปกติ และแรงกดดันต่ออัตราส่วนกำไรของธุรกิจการกลั่นน้ำมัน จากกำลังการกลั่นใหม่ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ จะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายลงทุนที่อยู่ในแผน(Committed Capex) และเงินปันผลในปี 2561 เป็นผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (FFO-adjusted net leverage) น่าจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำในปี 2561 หลังจากที่ลดลงมาอยู่ที่ 0.1 เท่าในปี 2560 (2559: อยู่ที่ 0.6 เท่า) ส่งผลให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่จะรองรับการลงทุนเพิ่มเติม และความผันผวนของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบได้ในระดับหนึ่ง
การลงทุนขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้อยู่แผน: TOP มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาได้แก่โครงการ Clean Fuel Project (CFP) ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันดิบ และเพิ่มหน่วยเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ (Upgrading Unit) ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนที่สูง โดยที่มูลค่าการลงทุนและโครงสร้างเงินลงทุนสำหรับโครงการยังไม่ได้ถูกกำหนดชัดเจน บริษัทฯคาดว่าจะสามารถสรุปแผนการลงทุนโครงการนี้ได้ภายในสิ้นปี 2561 ฟิทช์จะทบทวนผลกระทบของโครงการที่มีต่อสถานะทางเครดิตของบริษัทฯ เมื่อ บริษัทฯ มีข้อสรุปมูลค่าโครงการและโครงสร้างเงินลงทุนดังกล่าว
โรงกลั่นที่มีการผลิตแบบคอมเพล็กซ์และต้นทุนต่ำ: TOP มีข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันในฐานะผู้ดำเนินการโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 29% ของกำลังการกลั่นของประเทศในปี 2560 กระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์และอัตราการกลั่นที่สูงของ TOP ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านต้นทุน เพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดหาน้ำมันดิบ และช่วยให้บริษัทฯ สามารถบริหารกำลังการผลิตในการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและสร้างอัตราส่วนกำไรที่สูงเมื่อเทียบกับโรงกลั่นอื่นๆ ในประเทศ
การมีธุรกิจที่หลากหลาย: การขยายสายการผลิตของ TOP ไปยังการผลิตอะโรเมติกส์ น้ำมันหล่อลื่น ผลิตภัณฑ์สารทำละลาย และธุรกิจอื่นๆ (อาทิ การขนส่งปิโตรเลียม การผลิตกระแสไฟฟ้า และการบริการ) ช่วยกระจายแหล่งรายได้ และลดความผันผวนของอัตราส่วนกำไรได้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจไฟฟ้าที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานเต็มปีของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กของ TOP ทั้ง 2 แห่ง มีส่วนช่วยลดความผันผวนของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจการกลั่นน้ำมันซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม EBITDA จากธุรกิจไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 2.8 พันล้านบาทหรือประมาณ 8% ของ EBITDA ทั้งหมดในปี 2560
ธุรกิจมีความผันผวนสูง: อันดับเครดิตของ TOP ยังพิจารณารวมถึงปัจจัยเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ ต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของวัฏจักรของธุรกิจ และความเสี่ยงจากการมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว ความผันผวนของรายได้ค่าการกลั่น ราคาน้ำมัน และความต้องการเงินทุนหมุนเวียน อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกำไร และกระแสเงินสดของบริษัทฯ อีกทั้ง TOP ยังมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวด้านการตลาด เนื่องจากยอดขายส่วนใหญ่เป็นการขายให้กับ บมจ. ปตท. (อันดับเครดิตที่ AAA(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากการที่บริษัทฯ มีการขายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปส่วนใหญ่ให้กับ ปตท. ได้ถูกบรรเทาลงจากการที่ ปตท. มีอันดับเครดิตที่แข็งแกร่ง และเป็นผู้ดำเนินธุรกิจรายใหญ่ในการจัดจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย
ความเชื่อมโยงกับปตท.: อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ TOP ได้มีการพิจารณารวมถึงความเชื่อมโยงในระดับปานกลางกับ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท (บมจ. ปตท.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 49% เป็นผลให้บริษัทฯ ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับเครดิตจากอันดับเครดิตโดยลำพัง TOP เป็นโรงกลั่นที่สำคัญในกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันที่เป็นบริษัทในเครือของ ปตท. รวมถึงการขายผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปของบริษัทฯ ให้แก่ ปตท. คิดเป็นหนึ่งในสามของความต้องการน้ำมันทั้งหมดในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของ ปตท. นอกจากนี้ ปตท. ได้ให้การสนับสนุนทางด้านการค้าให้แก่ TOP ในด้านต่างๆ รวมถึง สัญญาการจัดหาผลิตภัณฑ์และสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบเป็นระยะเวลา 10 ปี และสัญญากู้ยืมเงินระหว่างบริษัทอีกด้วย
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
สถานะทางเครดิตโดยลำพัง (Stand-alone Credit Profile) ของ TOP ที่ 'A+(tha)' สะท้อนถึงขนาดธุรกิจและโรงกลั่นที่มีการผลิตแบบคอมเพล็กซ์ของบริษัทฯ สถานะทางธุรกิจของ TOP แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต และมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งดังกล่าว TOP มีโรงกลั่นน้ำมันที่คอมเพล็กซ์กว่าและมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (อันดับเครดิตที่A-(tha) ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ BBB+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่ามาก และมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่าเนื่องจากบริษัทฯ สามารถดำเนินการกลั่นน้ำมันโดยใช้กำลังการผลิตที่เต็มที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม TOP มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่าและมีการผลิตปิโตรเคมีที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC, อันดับเครดิตที่ AA(tha) ซึ่งมีสถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ AA-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) PTTGC ยังมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า เนื่องการดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า
สมมุติฐานที่สำคัญ:
ราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ ที่ราคา 57.5 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยมีการปรับปรุงด้วยส่วนต่างราคาน้ำมันตามการซื้อน้ำมันดิบของ TOP
ค่าการกลั่นที่ปรับตัวลดลงในปี 2561-2562 และคงที่หลังจากนั้น
การใช้กำลังการผลิตของโรงกลั่นที่ 101%-105% ในปี 2561-2565
กำไรของธุรกิจอะโรเมติกส์ค่อยๆปรับตัวดีขึ้นในปี 2561-2562 และคงที่หลังจากนั้น
กำไรของธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นที่ค่อยๆปรับตัวลดลงในปี 2561-2562 และคงที่หลังจากนั้น
ค่าใช้จ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นในปี 2561 เนื่องจากความล่าช้าในการใช้จ่ายเงินลงทุนในปี 2560 และจะลดลงในปี 2562-2563
อัตราการจ่ายเงินปันผลที่ระดับ 50%
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
อัตราส่วน FFO-adjusted net leverage อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 0.8 เท่าอย่างต่อเนื่อง แต่ว่าจะมีโอกาสเป็นไปได้น้อยเนื่องจากการลงทุนขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้อยู่ในแผนที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วง 2-4 ปีข้างหน้า
ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ กับ ปตท. ที่เพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยลบ:
ค่าการกลั่นและส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและวัตถุดิบที่ต่ำกว่าที่คาด และ/หรือ การลงทุนที่เพิ่มขึ้นโดยมีแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมซึ่งทำให้อัตราส่วน FFO-adjusted net leverage เพิ่มขึ้นในระดับที่สูงกว่า 1.8 เท่าอย่างต่อเนื่อง
ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ กับ ปตท. ที่ลดลง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: TOP มีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 6.5 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งมากเพียงพอที่จะรองรับหนี้สินจำนวน 2.5 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า สภาพคล่องโดยรวมของบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากที่คาดการณ์ว่ากระแสเงินสดสุทธิ น่าจะเป็นบวกในปี 2561 วงเงินกู้ที่มีกับ ปตท. จำนวน 2 พันล้านบาท วงเงินกู้ ประเภท Committed จำนวน 0.3 พันล้านบาทจากสถาบันการเงิน รวมทั้งบริษัทฯ ยังมีความสามารถในการระดมทุนผ่านตลาดทุน TOP ยังมีภาระการชำระคืนหนี้ที่จัดการได้ง่าย โดยมีอายุเฉลี่ยของหนี้ที่ครบกำหนดชำระประมาณ 10.8 ปี